นายญาณกร วรากุลรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) หรือ POLAR เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทฯ ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2559 มีมติเห็นชอบให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อพิจารณาอนุมัติการลดทุนจดทะเบียนของบริษัทจากเดิม 995,806,605,840 บาท เป็น 381,694,853,490 บาท ด้วยการยกเลิกหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 20,470,391,745 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 30 บาท แบ่งเป็น
1. ยกเลิกหุ้นสามัญที่ยังไม่ได้ขายจากคราวที่แล้ว ที่เหลือจากการจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (RO) จำนวน 1,369,894,356 หุ้น
2. หุ้นที่ออกเพื่อรองรับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท รุ่นที่ 1 (POLAR-W1) จำนวน 185,497,389 หุ้น
3. ยกเลิกการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement) และลดหุ้นจำนวน 18,915,000,000 หุ้น ที่เหลือสำรองไว้เต็มทั้งจำนวน
4. มีมติเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น และอนุมัติการออกใบแสดงสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน (Transferable Subscription Right : TSR) TSR คือ ใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ เป็นสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนระยะสั้น ซึ่งจัดเป็นเครื่องมือทางการเงินหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อช่วยในขั้นตอนการเพิ่มทุน โดย 1 หน่วยใบแสดงสิทธิสามารถจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้ 1 หุ้น ตามการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering) โดยประโยชน์ของใบแสดงสิทธิดังกล่าว คือ ผู้ถือหุ้นสามารถจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน สามารถขายใบแสดงสิทธิผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เพื่อทดแทนการยกเลิก PP โดยการออก TSR จำนวนไม่เกิน 42,574,758,600 หน่วย โดยไม่คิดมูลค่า ในอัตราส่วนหุ้นสามัญเดิม 1 หุ้น ได้รับการจัดสรร TSR 5 หน่วย โดยกำหนดให้ TSR 1 หน่วยใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญได้ 1 หุ้น ในราคาใช้สิทธิหุ้นละ 0.039 บาท และเพิ่มทางเลือกในการลงทุนที่คุ้มค่าให้กับผู้ถือหุ้น ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นที่ไม่ต้องการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน จะยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนโดยการขายสิทธิ TSR ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ถ้าในกรณีที่ผู้ถือหุ้นไม่ต้องการจะขายสิทธิ TSR ดังกล่าวนี้ ก็จะยังสามารถใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทได้ตามปกติ เหมือน RO โดยไม่มีการเสียสิทธิ บริษัทได้กำหนดให้วันที่ 1 ก.พ. 2559 เป็นวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญที่โอนสิทธิได้ (Record Date) และปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้น ในวันที่ 2 ก.พ.2559
5. พิจารณาอนุมัติการออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท รุ่นที่ 4 (POLAR-W4) จำนวน 17,029,903,440 หน่วย เพื่อขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering) โดยไม่คิดมูลค่า อัตราส่วน 3 หุ้นสามัญเดิมได้ 1 หน่วย POLAR-W4 กรณีมีเศษของใบสำคัญแสดงสิทธิเหลือจากการคำนวณตามอัตราส่วนการจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าว ให้ตัดเศษดังกล่าวทิ้งทั้งจำนวน
ทั้งนี้บริษัทจะออก POLAR-W4 ภายหลังจากที่ผู้ถือ TSR ใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทแล้ว และก่อนที่บริษัทจะทำการออก POLAR-W4 นี้ บริษัทจะพิจารณาจำนวนหุ้น รองรับใบสำคัญแสดงสิทธิออกใหม่ ที่ขออนุญาตเสนอขาย เมื่อรวมกับจำนวนหุ้นที่บริษัทจัดไว้ เพื่อรองรับหุ้นกู้แปลงสภาพหรือใบสำคัญแสดงสิทธิ ในครั้งอื่น ต้องไม่เกินกว่าสัดส่วน 50% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท
6. มีมติเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้พิจารณา อนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ จากเดิม 381,694,853,490 บาท เป็น 2,254,506,645,000 บาท โดยเป็นการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 62,427,059,717 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ หุ้นละ 30 บาท คิดเป็นทุนจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้นจำนวน 1,872,811,791,510 บาท และการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน มีดังนี้
1) จัดสรรหุ้นเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 42,574,758,600 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 30 บาท เพื่อรองรับการใช้สิทธิของTSR
2) จัดสรรหุ้นเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 17,029,903,440 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 30 บาท เพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงสภาพ POLAR-W4
3) จัดสรรหุ้นเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 107,118,500 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 30 บาท เพื่อรองรับการปรับสิทธิการใช้สิทธิแปลงสภาพ ตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท รุ่นที่ 2 (POLAR-W2) ที่ต้องปรับสิทธิเนื่องจากบริษัทมีการออกหลักทรัพย์และหลักทรัพย์แปลงสภาพใหม่
4) จัดสรรหุ้นเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 2,715,279,177 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 30 บาท เพื่อรองรับการปรับสิทธิการใช้สิทธิแปลงสภาพตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท รุ่นที่ 3 (POLAR-W3) ที่ต้องปรับสิทธิเนื่องจากบริษัทมีการออกหลักทรัพย์และหลักทรัพย์แปลงสภาพใหม่
ขณะที่บอร์ดมีมติอนุมัติ กำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2559 ในวันศุกร์ที่ 26 ก.พ. 2559 เวลา 14.00 น. ณ. ห้องบอลรูม ชั้น 3 โรงแรมเดอะแกรนด์โฟร์วิงส์คอนเวนชั่น
อย่างไรก็ดีจากมติบอร์ดบริษัทครั้งที่ 11/2558 เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2558 ที่เคยอนุมัติการออก TSR ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นซึ่งได้ยกเลิกในภายหลังนั้น ยืนยันว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการลดลงของราคาหุ้น บอร์ดจึงพิจารณาเลือกแนวทางนี้ โดยมีความเชื่อมั่นว่า มติดังกล่าวจะผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น เนื่องจากผู้ถือหุ้นมีเข้าใจถึงความจำเป็นและผลประโยชน์ที่จะนำมาสู่บริษัทในระยะยาว อีกทั้งการเลือกพิจารณาออก TSR แทน RO ยังได้แสดงให้เห็นถึงการดำเนินการเพื่อประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างแท้จริง
โดยบริษัทวางแผนการลงทุน จากแหล่งเงินทุนที่มาจาก TSR และจากการกู้ยืมสถาบันการเงิน มูลค่ารวมประมาณ 3,397 ล้านบาท ไว้ดังนี้
1.ลงทุนตามสัดส่วนในบริษัทร่วมทุนโครงการ "The Sherwood" ที่ประเทศอังกฤษ จำนวน 500 ล้านบาท
2.โครงการพังงา – วิลล่า เฟส 1 จำนวน 1,000 ล้านบาท
3.โครงการพังงา – พัฒนาสาธารณูปโภค ส่วนแรก จำนวน 150 ล้านบาท
4.ชำระค่าที่ดิน - ถนนพหลโยธิน จำนวน 587 ล้านบาท
5.ชำระค่าพัฒนาที่ดิน -พหลโยธิน : ส่วนแรก จำนวน 450 ล้านบาท
6.เงินลงทุนในบริษัทย่อย (บจ.แพลทตินั่ม ออโต้ เซอร์วิส) จำนวน 400 ล้านบาท
7.เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 310 ล้านบาท
สำหรับโครงการ "The Sherwood" เป็นโครงการคอนโดมิเนียมสำหรับพักอาศัย ดำเนินงานโดยบริษัท Glory Acme Co., Ltd. (GA) ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างบริษัท POLAR และ Mr. Jonathan Lam นักพัฒนาอสังหาหาริมทรัพย์ ที่มีประสบการณ์มานานกว่า 10 ปี ในสัดส่วนการลงทุน (49 : 51) ตั้งเป้ายอดขายรวมกว่า 7,200 ล้านบาท ซึ่ง "The Sherwood" ได้รับความสนใจเป็นอย่างสูง และมียอดจองเข้ามาแล้วจำนวน 20 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของโครงการทั้งหมด พร้อมทั้งมั่นใจว่า จะสามารถขายได้ทั้งหมดโครงการภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมทั้งโอน และทยอยรับรู้เป็นรายได้ภายในต้นปี 2560 สนับสนุนให้ผลการดำเนินงานของ POLAR สามารถเติบโตและสร้างรายได้ ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้บริษัทยังได้พัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา มีเนื้อที่รวม 657 ไร่ ทำเลที่ดินหน้าหาดติดทะเล มีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับหาดทรายที่สวยงาม คงความเป็นธรรมชาติอยู่มาก ปัจจุบันมีพันธมิตรทางธุรกิจรายใหญ่ให้ความสนใจในโครงการดังกล่าวหลายราย บริษัทจึงวางแผนจะพัฒนาโครงการในรูปแบบ Master development ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่ดินคล้ายการทำนิคมอุตสาหกรรม เป็นแนวทางใหม่ สำหรับ Real estate Master development คือการลงทุนในที่ดินขนาดใหญ่ พัฒนารูปแบบเมืองชายทะเล และจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการ โดยจะมีการพัฒนาสาธารณูปโภคในโครงการทั้งหมด รวมถึงอาจจะมีการติดต่อเครือโรงแรมห้าดาวชั้นนำต่างๆ มาร่วมพัฒนาที่ดินในแต่ละแปลงตาม Master Plan ที่บริษัทได้วางไว้ สำหรับการพัฒนาและก่อสร้างในปี 2559-2560 บริษัทจะวางแผนการลงทุนในเฟสแรกได้แก่ การพัฒนาสาธารณูปโภคและการก่อสร้าง Pool villa residence เห็นวิวทะเล และมีทะเลสาปน้ำจืดรายรอบ สำหรับขายจำนวน 45 หลัง จากแผนงานทั้งหมด 130 หลัง โดยกำหนดราคาขายหลังละ 43 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถขายและทยอยรับรู้รายได้ในปี 2561 เป็นต้นไป และดำเนินการปรับพื้นที่ภูมิทัศน์ ให้ที่ดินสวยงาม โดยลงทุนในส่วนงานดิน และงานถนนเมน ขุดคลองเชื่อมต่อกับทะเลสาป สร้างรั้วโครงการระบบไฟฟ้า ทำโครงการระบบบำบัดน้ำ และในส่วนอื่นจะพัฒนาสาธารณูปโภคพร้อมกับขายที่ดินแปลงใหญ่ให้แก่นักลงทุนที่มีความชำนาญในตลาดนั้นๆ ซึ่งเป็นทั้งนักลงทุนชาวไทยและต่างประเทศ ที่จะเข้ามาพัฒนาโครงเป็นคอนโดมิเนียมหรือ บ้านพักตากอากาศ ให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และบริษัทจะเป็นผู้บริหารภาพรวมหรือร่วมทุนในบางโครงการตามความเหมาะสม ซึ่งเป็นแผนการพัฒนาในระยะยาว บริษัทเชื่อมั่นว่าแผนงานเหล่านี้จะสามารถสร้างรายได้ที่คุ้มค่า และเป็นประโยชน์อย่างสูงสุดแก่ผู้ถือหุ้นทุกราย