มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จับมือ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ นายบุญชู ตรีทอง อดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมยกระดับการจัดการศึกษาไทยในภาคเหนือ ผ่านกรอบความร่วมมือ "เครือข่ายสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.ศูนย์ลำปาง" มุ่งสร้างบุคลากรในพื้นที่ทั้ง 17 จังหวัด ให้มีความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ พร้อมเตรียมเปิดสาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไป ในปี 2560 รองรับอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคเหนือที่มีการขยับขยายอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนารากฐานความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยต่อไปในอนาคตทั้งนี้ กิจกรรมการลงนามความร่วมมือดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องประชุมสัญญาธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยประสบสภาวะขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ การเกษตร การคมนาคมหรือ สาธารณูปโภค ฯลฯ ในฐานะผู้ที่มีความสามารถในการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และมีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับกับการเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศไทย อันเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญสู่การขับเคลื่อนประเทศของภาครัฐ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศ ผ่านการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานกว่า 81 ปี จึงได้ผนึกเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ นายบุญชู ตรีทอง อดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ผู้อุทิศตัวให้กับการพัฒนาการศึกษาไทย เพื่อผลักดันคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.ศูนย์ลำปาง สู่การเป็น "ศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของภาคเหนือ" ผ่านกรอบความร่วมมือ "เครือข่ายสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.ศูนย์ลำปาง" ที่มุ่งสร้างบุคลากรในพื้นที่ทั้ง 17 จังหวัด ให้มีความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ พร้อมเตรียมเปิดสาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไป ในปี 2560 เพื่อรองรับอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคเหนือที่มีการขยับขยายอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนารากฐานความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยต่อไปในอนาคต
"ทั้งนี้ จากสถิติของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ในปี 2557 พบว่าสถาบันการศึกษาที่เปิดหลักสูตรการสอนในกลุ่มคณะวิทยาศาสตร์ มีจำนวน 139 แห่ง จากจำนวนสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ 169 แห่ง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 82% อีกทั้งจากข้อมูลของ สสวท. ระบุว่าในแต่ละปีสามารถผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ได้เพียง 8 คน ต่อประชากร 10,000 คน ในขณะที่สังคมยังคงมีความต้องการบุคลากรในด้านนี้สูงกว่า 10% ของจำนวนประชากรไทยในวัยแรงงาน"
รศ.ปกรณ์ เสริมสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือดังกล่าว เป็นการร่วมมือกันครั้งแรกระหว่าง มธ.ศูนย์ลำปาง สสวท. สพฐ. และ นายบุญชู ตรีทอง โดยในส่วนของ สสวท. ได้ให้ความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรของคณะฯ ให้มีความเข้มข้นและครบถ้วนในเนื้อหาสาระ รวมทั้งให้คำแนะนำในการจัดหาคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญมาทำการสอน ขณะที่ สพฐ. ได้ร่วมดำเนินการประสานความร่วมมือกับโรงเรียนในเครือ ผ่านการกิจกรรมประชาสัมพันธ์ต่างๆ อาทิ การจัดทีมบุคลากรเข้าไปประชาสัมพันธ์หลักสูตร และจัดอบรมให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อให้นักเรียนมีความเข้าใจและเล็งเห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์มากขึ้นตามลำดับ ฯลฯ ทั้งนี้ นักเรียนที่เข้าศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ศูนย์ลำปาง จะได้รับ "ทุนวิทยาศาสตร์ 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยคุณบุญชู ตรีทอง" ทุนเรียนฟรีจากนายบุญชู ตรีทอง เป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท ในชั้นปี 1 และจะได้รับทุนการศึกษาต่อเนื่อง ในชั้นปี 2-3 จำนวน 30,000 และ 50,000 บาท ตามลำดับ เมื่อมีผลการเฉลี่ยดีมากตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด พร้อมทั้งยังมีโอกาสได้รับทุนสนับสนุนศึกษาต่อระดับปริญญาโทในสาขาวิชาที่สนใจ
ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์ลำปาง ได้รับการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความโดดเด่นและเหมาะสมในการผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ โดยมุ่งเน้นการเรียนรู้แบบบูรณาการทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ นักศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไปจะได้สัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้จริงจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลายในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งอยู่ในระหว่างการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทางสถาบัน อาทิ การพัฒนาวัสดุภัณฑ์และการสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมเซรามิก การรักษาสิ่งแวดล้อมและควบคุมพลังงาน ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่การจัดการกากขยะอุตสาหกรรม ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ตลอดจนมีกำหนดให้มีการฝึกงาน 1 ภาคเรียน และทำโปรเจกต์จบเป็นระยะเวลาถึง 1 ปีการศึกษาเต็ม ทั้งนี้ เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกกระบวนการเรียนรู้เชิงลึกด้วยตัวเอง โดยใช้องค์ความรู้ทางวิชาการ ผสมผสานกับทักษะในศตวรรษที่ 21 อาทิ ทักษะการคิดวิเคราะห์ ความเป็นผู้นำ ความสามารถในการสื่อสาร และความเป็นผู้ประกอบการ อันสอดคล้องกับนโยบายสถาบัน ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้แบบ "แอคทีฟ เลิร์นนิ่ง" (Active Learning) รศ.ปกรณ์ กล่าว
ด้าน นายบุญชู ตรีทอง อดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จัดเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั้งจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมดังกล่าว ยังมีแนวโน้มการค้าการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากทั้งในและต่างประเทศ แต่ในปัจจุบันยังคงขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์เป็นจำนวนมาก ดังนั้น การสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้พัฒนาการของอุตสาหกรรมไทยเติบโตต่อไปได้อย่างมีศักยภาพ
"มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งมั่นสู่การเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสังคมไทย ผ่านการปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ต่อบุคลากรและนักศึกษา ด้วยการยึดมั่นในความเป็นธรรมการมีจิตสาธารณะและการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ให้มีคุณสมบัติผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21 สอดรับตามแนวคิด"มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์...มหาวิทยาลัย
เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง"
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ นายบุญชู ตรีทอง ได้ร่วมกันลงนามความร่วมมือดังกล่าว เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องประชุมสัญญาธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร. 02-613-3030 เว็บไซต์www.tu.ac.th