“สถานการณ์น้ำและการรับมือของภาคอุตสาหกรรม”

พุธ ๒๐ มกราคม ๒๐๑๖ ๑๓:๐๔
นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานสถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมฯ กล่าวถึงความเป็นมา ของสถานการณ์น้ำในปัจจุบันว่า สืบเนื่องจากปัญหาวิกฤตภัยแล้งที่ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมา โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2559 ประเทศไทยจะยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนก็ได้พยายามเตรียมการรับมือกับปัญหาดังกล่าว ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ แต่ทั้งนี้ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการเกษตร และภาคประชาชน ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาระดับชาติซึ่งภาครัฐได้ขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยกันประหยัดน้ำ จนถึงภาคเกษตรที่ภาครัฐจำเป็นต้องลดปริมาณการส่งน้ำ เนื่องจากต้องเก็บน้ำเอาไว้สำหรับการอุปโภคบริโภคเป็นสำคัญ ทำให้ทุกภาคส่วนต้องใช้น้ำให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด

สำหรับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในภาคส่วนที่เป็นตัวแทนภาคเอกชน ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นและต้องการร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง ทั้งการรณรงค์และส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ่มค่า รวมถึงการให้ความสำคัญกับชุมชนรอบข้าง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ สภาอุตสาหกรรมฯ ในการส่งเสริมให้สมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ เป็นองค์กรที่ประกอบกิจการโดยยึดหลักการมีธรรมาภิบาลที่ดี และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

สถานการณ์น้ำปัจจุบัน

ภาพรวมของประเทศไทย มีพื้นที่ทั้งหมด 321 ล้านไร่ คิดเป็น 518,000 ตารางเมตร มีปริมาณฝน 1,426 มิลลิเมตร/ปี คิดเป็น 730,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเป็นน้ำซึมลงดินปริมาณ 520,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และเป็นน้ำผิวดินปริมาณ 210,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่การกักเก็บน้ำมีเพียง 20,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งที่ความจุเก็บกักจริงหากเต็มพื้นที่สามารถบรรจุได้ 79,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

การประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2559 มีมติให้เตรียมการรับสถานการณ์วิกฤตภัยแล้งในปี 2559 ซึ่งคาดว่าจะมีพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำตั้งแต่วันนี้ถึงเดือนพฤษภาคม 2559 จำนวนทั้งสิ้น 548 อำเภอ จากทั้งหมด 928 อำเภอ คิดเป็น 59% ทั้งนี้การแก้ปัญหาจะมุ่งเน้นที่น้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ โดยจะมีการกำหนดมาตรการระบายน้ำ และการเจาะน้ำบาดาล

ข้อมูลจาก กรมชลประทาน แสดงให้เห็นว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของแต่ละภูมิภาคในช่วงเวลาเดียวกันจะมีปริมาณน้อยกว่าปี 2558 ทุกภูมิภาค (วันที่ 14 มกราคม 2559)

ภาคใต้ และภาคตะวันออก ในปี 2559 นี้ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอ แต่สำหรับภาคตะวันออกอาจมีบางจังหวัดที่อาจต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เช่น ชลบุรี และฉะเชิงเทรา โดยต้องจัดหาน้ำมาเพิ่มเพื่อเสริมเสถียรภาพด้านน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของทุกภาคส่วนในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งมีการกำหนดแผนงานทั้งการหาแหล่งน้ำต้นทุนจากแหล่งน้ำเอกชนอื่นๆ รวมถึงเร่งรัดการลงทุนในโครงการวางท่อต่างๆ และพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตภัยแล้งขึ้นในพื้นที่ที่เป็นเขตเศรษฐกิจหลักของประเทศ

ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ยังคงมีความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหาภัยแล้งในปี 2559 เนื่องจากมีปริมาณน้ำในเขื่อนหลักน้อย โดยพื้นที่ภาคกลาง (ฝั่งตะวันออก) กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำไว้เฉพาะสำหรับการอุปโภค บริโภค และการรักษาระบบนิเวศ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2558 ถึง เดือนมิถุนายน 2559 ไว้ประมาณ 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยไม่ได้มีการจัดสรรน้ำเผื่อไว้สำหรับการเกษตร ซึ่งภาครัฐได้ขอความร่วมมือให้ประชาชนงดการทำนาปรังในปี 2559 แต่ในปัจจุบันยังคงมีการปลูกข้าวอยู่ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และคาดว่ามีการใช้น้ำจากการปลูกข้าว ประมาณ 1,0000 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงอาจมีปัญหาในภาพรวมจากการมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอในปี 2559 ในส่วนของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงเป็นภูมิภาคหนึ่งที่อาจประสบปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประสบปัญหาดินและน้ำเค็ม

ภาพรวมผลกระทบ

จากวิกฤตภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่เป็นภาคส่วนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง คือ กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยแล้ง และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องมีการพึ่งพาน้ำในการผลิต ซึ่งหากพิจารณาจากแหล่งน้ำที่นำมาใช้ประโยชน์แล้วอาจแบ่งออกได้ดังนี้

น้ำผิวดินจากแหล่งน้ำธรรมชาติ : จากสถิติที่ผ่านมาในบริเวณลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ อุตสาหกรรมที่มีความต้องการน้ำสำหรับการผลิตในปริมาณสูง จะตั้งอยู่บริเวณลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก และลุ่มน้ำท่าจีน

น้ำผิวดินซึ่งเป็นบ่อเก็บกักภายในโรงงาน : ซึ่งภาคอุตสาหกรรมจะมีการจัดเตรียมบ่อเก็บกักเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ภายในโรงงาน โดยรวบรวมทั้งมาจากน้ำฝนและแหล่งน้ำธรรมชาติในบริเวณใกล้เคียง

น้ำบาดาล : จากวิกฤตภัยแล้งของประเทศ ได้ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้น้ำบาดาลเนื่องจากเป็นแหล่งน้ำที่มีความเหมาะสมมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี กลุ่มอุตสาหกรรมโลหะ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น

การดำเนินงานของภาคอุตสาหกรรมในการรับมือวิกฤตภัยแล้ง

สภาอุตสาหกรรมฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับวิกฤตภัยแล้ง ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ โดยได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆทั้งในส่วนความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างๆ และในส่วนของภาคอุตสาหกรรม

มาตรการเร่งด่วน

1. สื่อสารข้อมูลไปยังสมาชิกผู้ประกอบการเพื่อให้ทราบสถานการณ์และเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยใช้กลไกของ War room น้ำ ใน 4 ภูมิภาค กลุ่มอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ

2. การดำเนินงานด้าน CSR ด้านน้ำ โดยแบ่งปันน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคให้กับชุมชนรอบข้างและภาคส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะในช่วงภัยแล้ง ลักษณะเช่นเดียวกับ "โครงการ ส.อ.ท.ปันน้ำใจช่วยภัยแล้ง" ที่ สภาอุตสาหกรรมฯ ดำเนินการร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อแบ่งปันน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคให้กับชุมชนรอบข้างที่อยู่ในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งการนำน้ำบาดาลที่ยังมีเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมมาแบ่งปันให้กับชุมชนใกล้เคียง โดยในปีนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมที่แสดงเจตนารมณ์ในการช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง หรือการสนับสนุนน้ำดื่มให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหา อาทิเช่น

- กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

- บจก. เอสซีจี เคมิคอลส์

- บจก. ไทยน้ำทิพย์

- บมจ. จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก

- สมาคมฟอกย้อมตกแต่งและพิมพ์สิ่งทอไทย

3. ผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมนำน้ำบาดาลมาใช้ร่วมกับน้ำผิวดินในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นได้อำนวยความสะดวกให้สมาชิกในการขออนุญาตขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล

4. เร่งสร้างต้นแบบโรงงานที่มีการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพทุกภูมิภาค จำนวน 90 แห่ง ผ่าน "โครงการสร้างต้นแบบและขยายเครือข่ายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลอย่างมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรมฯ" ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล โดยจะคัดเลือกโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพตามหลักการ 3 Rs จำนวน 15 โรงงาน จาก 5 ภูมิภาค ทั่วประเทศ เพื่อเป็นโรงงานต้นแบบด้านการบริหารจัดการน้ำ และเข้าไปให้คำปรึกษาและช่วยเหลือโรงงานที่ต้องการปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ จำนวน 75 แห่ง ในลักษณะพี่สอนน้อง

5. ผลักดันให้ภาครัฐพิจารณาอนุญาตให้สามารถนำน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานวิชาการ ไปใช้ประโยชน์ใหม่ให้มากยิ่งขึ้น

6. ส่งเสริมการทำ Water Footprint ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อประเมินปริมาณการใช้น้ำของโรงงานอุตสาหกรรม และนำมาหาแนวทางลดการใช้น้ำได้อย่างมีนัยสำคัญ

7. การหาแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสีย และใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ESCO Fund ที่จะเพิ่มงบประมาณในส่วนของโครงการที่สามารถช่วยอนุรักษ์น้ำและพลังงานได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ