กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด และบริษัท คอมพิวเตอร์ยูเนี่ยน จำกัด ประกาศร่วมมือให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีแก่การแข่งขันเกมจำลองธุรกิจแห่งชาติ ด้วยการจัดวางและดูแลระบบไอที ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักในการแข่งขันแบบ Web-based strategic business game ของการแข่งขันเกมจำลองธุรกิจแห่งชาติ ซึ่งดำเนินการจัดการแข่งขันโดยภาควิชาพาณิชยศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายสวัสดิ์ อัศดารณ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการตลาด บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ไอบีเอ็มมีความยินดีที่ได้มีโอกาสนำความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีและไอทีมาสนับสนุนระบบการศึกษา ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของนิสิต นักศึกษา ให้พร้อมก้าวสู่ตลาดแรงงานและการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจในอนาคต ในครั้งนี้ ไอบีเอ็มได้ร่วมมือกับบริษัท คอมพิวเตอร์ยูเนี่ยน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทคู่ค้าทางธุรกิจที่สำคัญของไอบีเอ็ม ในการสนับสนุนติดตั้งเซิร์ฟเวอร์ IBM eServer xSeries และคอมพิวเตอร์ทั้งหมดที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานไอทีเพื่อรองรับ Web-based strategic business simulation game นั่นหมายถึง ระบบไอทีนี้จะต้องมีเสถียรภาพ สามารถรองรับจำนวนผู้แข่งขันและข้อมูลจำนวนมากในเวลาพร้อมๆ กัน และระบบจะสะดวกสำหรับการดูแลจัดการ”
การแข่งขันจะจัดขึ้นตามภูมิภาคต่างๆ ทั้งมหาวิทยาลัยในกรุงเทพและภาคกลางแข่งขันที่กรุงเทพมหานคร ภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่น ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ระบบการแข่งขันทั้งหมดทำงานอยู่บนระบบโครงสร้างไอทีที่เป็น Web-based ซึ่งพัฒนาโดย ผศ.ดร.ประเสริฐ คณาวัฒนาไชย หัวหน้าสาขาสารสนเทศเพื่อการจัดการ ภาควิชาพาณิชยศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี โดยผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะส่งข้อมูลออนไลน์ มาประมวลผลที่ Main Server ในการแข่งขันครั้งนี้ ใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ThinkCenter 400 เครื่อง และ IBM eServer xSeries 4 เครื่อง โดยมีบริษัท คอมพิวเตอร์ยูเนี่ยน จำกัดเป็นผู้จัดวาง ให้การดูแลระบบ และโยกย้ายการติดตั้งไปตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศตลอดระยะเวลาการแข่งขัน ในอดีตเกมส์ที่ถูกพัฒนามาก็เล่นได้ประมาณ 10-20 ทีม พร้อมกัน และการแข่งขันในครั้งนี้ ระบบไอทีสามารถรองรับผู้เข้าแข่งขันพร้อมกันสูงสุดครั้งละ 137 ทีม ที่สำคัญ โครงการนี้เป็นโครงการที่สร้างเครือข่ายเชื่อมโยง E2E (Educations to Educations), E2B (Educations to Business) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ องค์ความรู้ของนิสิต นักศึกษาไทย
ศ. ดร. อัจฉรา จันทร์ฉาย หัวหน้าภาควิชาพาณิชยศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานโครงการฯ กล่าวว่า “การแข่งขันนี้จะไม่สามารถดำเนินการได้หากไม่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่ทันสมัยและระบบที่มีเสถียรภาพสูงจาก บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด และ บริษัท คอมพิวเตอร์ยูเนียน จำกัด ความสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีของทั้งจากไอบีเอ็มและคอมพิวเตอร์
ยูเนี่ยนยังจะช่วยให้โครงการบรรลุวัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่งคือ การฝึกให้นิสิตนักศึกษารู้จักนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการตัดสินใจทางธุรกิจด้านการตลาด การดำเนินงาน การเงินและการบัญชี”
นายไพโรจน์ เตี่ยมังกรพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและบริการ บริษัท คอมพิวเตอร์ยูเนี่ยน จำกัด กล่าวว่า “บริษัท คอมพิวเตอร์ยูเนี่ยน จำกัด เป็นบริษัทในกลุ่มสหยูเนี่ยนก่อตั้งมา 23 ปี เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับไอทีและซอฟท์แวร์โซลูชั่นต่างๆ ป้จจุบันระบบการศึกษาไทยจะต้องปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงและก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว นิสิต นักศึกษาจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนาความรู้ ความสามารถเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้ บริษัทฯ จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสเป็นผู้ให้การสนับสนุนระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมดร่วมกับไอบีเอ็มในการแข่งขันเกมจำลองธุรกิจแห่งชาติ ที่จัดโดยภาควิชาพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในการแข่งขันครั้งนี้ นิสิต นักศึกษาทั่วประเทศจะได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันนี้อย่างทั่วถึง เนื่องจากได้มีการจัดระบบคอมพิวเตอร์ไปติดตั้งตามภูมิภาคต่างๆ นิสิต นักศึกษาจะได้มีความรู้ ความเข้าใจบทบาทของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะมีต่อการทำธุรกิจต่อไปในภายภาคหน้า”
ความคืบหน้าของโครงการ
การแข่งขันครั้งนี้ได้รับความสนใจจากนิสิต นักศึกษา จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ โดยมีทีมผู้สมัครเข้าแข่งขันจำนวนทั้งสิ้น 357 ทีม จาก 80 สถาบันการศึกษา จำนวนผู้เข้าแข่งขันทั้งสิ้น 1,800 คน
โดยแบ่งเป็น
สถาบันการศึกษาในกรุงเทพมหานคร จำนวน 119 ทีม จาก 21 สถาบัน
สถาบันการศึกษาภาคกลาง จำนวน 72 ทีม จาก 17 สถาบัน
สถาบันการศึกษาภาคเหนือ จำนวน 47 ทีม จาก 12 สถาบัน
สถาบันการศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 60 ทีม จาก 19 สถาบัน
สถาบันการศึกษาภาคใต้ จำนวน 59 ทีม จาก 10 สถาบัน
โดยจะทำการคัดเลือกทีมที่เข้ารอบชิงชนะเลิศ จำนวน 50 ทีม ดังนี้
สถาบันการศึกษาในกรุงเทพมหานคร จำนวน 17 ทีม
สถาบันการศึกษาภาคกลาง จำนวน 10 ทีม
สถาบันการศึกษาภาคเหนือ จำนวน 7 ทีม
สถาบันการศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 8 ทีม
สถาบันการศึกษาภาคใต้ จำนวน 8 ทีม
การจัดแข่งขันรอบคัดเลือกจะดำเนินการแข่งขันในระหว่างวันที่ 15 — 26 ตุลาคม 2548 และจะจัดแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศในระหว่างวันที่ 29 — 30 ตุลาคม 2548 ณ. ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เกี่ยวกับโครงการการแข่งขันเกมจำลองธุรกิจแห่งชาติ
เนื่องในวโรกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระเจริญพระชนมายุครบ 50 พรรษา คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้จัดโครงการเฉลิมพระเกียรติจัดการแข่งขันเกมจำลองธุรกิจแห่งชาติ เพื่อเป็นการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ด้านบริหารธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการให้กับนิสิต นักศึกษาในระดับปริญญาตรี ให้ได้เรียนรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์ในการทำธุรกิจ ฝึกหัดการตัดสินใจในการบริหารกิจการด้านการตลาด การดำเนินงาน การบริหารทรัพยากรมนุษย์ การเงิน การบัญชี และการมีจรรยาบรรณในการทำธุรกิจ อีกทั้งเรียนรู้การวางแผนและประเมินผลงานในแนวคิดโดยใช้ BSC (Balanced Scorecard) เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพในการก้าวสู่ตลาดแรงงานและการเป็นผู้ประกอบการ
เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดย
บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
คุณอรอุมา วัฒนะสุข โทร 02-273-4117 อีเมล์ [email protected]
และคณะผู้จัดทำโครงการการแข่งขันเกมจำลองธุรกิจแห่งชาติ
คุณปริญญ์ ศุกรีเขตร โทร 01-984-2783 อีเมล์ [email protected]จบ--
- พ.ย. ๒๕๖๗ ZTE จับมือ คอมพิวเตอร์ยูเนี่ยน พัฒนา Cutting-Edge IT Solutions สุดล้ำในประเทศไทย
- พ.ย. ๓๖๔๙ "คิวเอดี" ผนึกเป็นพันธมิตร "คอมพิวเตอร์ยูเนี่ยน" ขยายฐานลูกค้าซอฟต์แวร์ Cloud ERP กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตในประเทศไทย ปูทางสู่การผลิตในยุคดิจิทัล
- พ.ย. ๒๕๖๗ GIGA-BYTE ผนึกพันธมิตร COMPUTER UNION ทำตลาดเครื่องแม่ข่ายและอินเทลลิเจนท์ คลาวด์ อินฟอร์เมชั่นในไทย