นางรัตนา กิจวรรณ ผู้ว่าการ กปภ. เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ว่าในปีนี้ประเทศไทยจะประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงและยาวนานกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ กปภ. เร่งวางมาตรการเพื่อรองรับภัยแล้งอย่างรอบด้าน ซึ่งจากการประเมินล่าสุดพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและจ่ายน้ำประปาให้บริการประชาชนจำนวน 55 สาขาจากพื้นที่ให้บริการของ กปภ.ทั้งหมด 234 สาขา 358 หน่วยบริการ โดยในพื้นที่ จ.ปทุมธานี เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีสาขาในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในปีนี้ ซึ่งประกอบด้วย กปภ.สาขาคลองหลวง สาขาธัญบุรี สาขารังสิต และสาขาปทุมธานี ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและป้องกันมิให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากวิกฤติภัยแล้ง กปภ. จึงได้ทุ่มงบประมาณกว่า 277 ล้านบาท ผุดโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ดังนี้กปภ.สาขาปทุมธานี เจาะบ่อบาดาล จำนวน 4 บ่อ เพื่อให้มีน้ำดิบเพียงพอต่อการผลิตน้ำประปากปภ.สาขารังสิต เจาะบ่อบาดาล จำนวน 4 บ่อ และระบบสูบจ่ายน้ำแรงสูงบริเวณสถานีจ่ายน้ำลาดสวาย และบริเวณสำนักงาน กปภ.สาขาคลองหลวง เจาะบ่อบาดาล จำนวน 2 บ่อ และระบบสูบจ่ายน้ำแรงสูงบริเวณสถานีจ่ายน้ำคลองหลวง ตลอดจนวางท่อเสริมแรงดัน HDPE ขนาด 500 มม. จาก กปภ.สาขาพระนครศรีอยุธยา ไปบริเวณทางต่างระดับวงแหวนตะวันตก และกปภ.สาขาธัญบุรี เจาะบ่อบาดาล จำนวน 2 บ่อ และระบบสูบจ่ายน้ำแรงสูงบริเวณสถานีจ่ายน้ำหนองเสือ พร้อมก่อสร้างถังน้ำใสขนาด 1,000 ลบ.ม. ก่อสร้างระบบสูบน้ำดิบ และ Mobile Plant ขนาด 200 ลบ.ม./ชม. ก่อสร้างโรงสูบน้ำแรงต่ำและวางท่อน้ำดิบคลอง 13 ไปถึงสถานีผลิตน้ำพืชอุดม ก่อสร้างระบบสูบน้ำดิบ และ Mobile Plant ขนาด 300 ลบ.ม. ณ หน่วยบริการองครักษ์ กปภ.สาขาบ้านนา เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ กปภ.สาขาธัญบุรี ทั้งนี้ คาดว่าโครงการต่าง ๆ จะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2559 เพื่อให้ทันต่อการแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับประชาชน
ผู้ว่าการ กปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระยะยาว กปภ. ได้วางแผน ทุ่มงบกว่า 4,000 ล้านบาท เพื่อเดินหน้าโครงการต่าง ๆ ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจในการบริหารจัดการน้ำของ กปภ. ว่าจะสามารถผลิตและส่งจ่ายน้ำประปาให้กับประชาชนได้ตลอดช่วงภัยแล้ง