แม้ปี 2558 จะเป็นจุดสิ้นสุดของยุคดอกเบี้ยตกต่ำของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่หลาย ๆประเทศทั่วโลกยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเอาไว้ โดยธนาคารกลางของหลายประเทศยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำและยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัญหาทางเศรษฐกิจในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวลดลง ราคาสินค้าที่ตกต่ำลงส่งผลกระทบต่อประเทศไทยค่อนข้างมากเนื่องจากเกือบ 40% ของประชากรไทยเป็นแรงงานที่อยู่ในภาคการเกษตร ดังนั้น ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำจึงส่งผลกระทบต่อรายได้ครัวเรือน นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมากในปัจจุบันซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อประเทศที่นำเข้าน้ำมันอย่างเช่นประเทศไทยก็ไม่ได้ช่วยภาพรวมเศรษฐกิจให้ดีขึ้นมากนัก ในภาวะที่สถานการณ์เศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะยังคงทรงตัวต่อเนื่องต่อไป ดังนั้น ปี 2559 จึงจะยังเป็นปีที่ท้าทายของผู้ประกอบการในประเทศอีกปีหนึ่ง สำหรับปีนี้ รัฐบาลได้ตั้งเป้าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product -- GDP) ไว้ที่ 3%-3.5% รวมถึงตั้งเป้ายอดการส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 5% โดยการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ จะยังคงเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ในปี 2558 ทริสเรทติ้งมีการจัดและประกาศผลอันดับเครดิตให้แก่บริษัทหรือหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งสิ้นรวม 136 ราย โดยเป็นการจัดอันดับเครดิตใหม่ 15 ราย มีบริษัทที่ยกเลิกการจัดอันดับเครดิตจำนวน 7 ราย จึงทำให้จำนวนบริษัทคงเหลือ ณ สิ้นปีอยู่ที่ 129 ราย สัดส่วนของบริษัทที่มีการประกาศอันดับเครดิตต่อสาธารณะ (ไม่นับรวมบริษัทที่เข้าใหม่ บริษัทที่ยกเลิกอันดับเครดิต และบริษัทที่มีการผิดนัดชำระหนี้) ที่มีอันดับเครดิตคงเดิมอยู่ที่ 83.3% ลดลงจาก 87.5% ในปีก่อนหน้า แม้บริษัทที่ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตจะมีจำนวนมากกว่าบริษัทที่ถูกปรับลดอันดับเครดิต แต่สัดส่วนของบริษัทที่ถูกปรับลดอันดับเครดิตต่อบริษัทที่ได้รับการเพิ่มอันดับเครดิตกลับเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 0.08 ในปี 2557 เป็น 0.46 ในปี 2558 โดยมีบริษัทที่ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิต 13 ราย และถูกปรับลดอันดับเครดิต 5 ราย นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่ได้รับการเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตและถูกประกาศเครดิตพินิจจำนวนทั้งสิ้นอีก 13 ราย และไม่มีบริษัทใดผิดนัดชำระหนี้ในปี 2558 เลย ดังนั้น จำนวนบริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้สะสมตั้งแต่ปี 2537 จึงยังคงอยู่ที่ 18 ราย (เป็นบริษัทที่มีการผิดนัดชำระหนี้ระหว่างที่ยังมีการจัดอันดับเครดิตอยู่จำนวน 14 ราย และอีก 4 รายมีการผิดนัดชำระหนี้ภายหลังจากขอยกเลิกอันดับเครดิตไปแล้ว) ทำให้อัตราการผิดนัดชำระหนี้สะสม 1 ปี 2 ปี และ 3 ปีในปี 2558 ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1.3% 2.8% และ 4.2% จาก 1.4% 3.1% และ 4.7% ในปี 2557 ตามลำดับ โดยบริษัทที่รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งส่วนใหญ่มีอันดับเครดิตอยู่ในระดับ "A" และ "BBB" ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณมากกว่า 80% ของบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตทั้งหมด
ตราสารหนี้ภาคเอกชน ณ สิ้นปี 2558 มีมูลค่าอยู่ที่ 2.078 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.2% จากปีก่อนหน้า โดยสัดส่วนของตราสารหนี้ที่ไม่มีอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นเป็น 10.99% จาก 6.68%
ในปี 2557 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำส่งผลให้นักลงทุนที่มีรายได้สูงมองหาผลตอบแทนที่สูงกว่าแม้จะมีความเสี่ยงสูงก็ตาม ตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ออกและจดทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2558 มีมูลค่าอยู่ที่ 546,891 ล้านบาทลดลง 3.9% จากปีก่อนหน้า โดยกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารพาณิชย์ วัสดุก่อสร้างและ
28 มกราคม 2559