ต่อด้วยตรวจเยี่ยมศูนย์ประสานแรงงานประมง ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า – ออก (Pi-Po) และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 12 สงขลา พร้อมมอบแนวทางการปฏิบัติราชการให้แก่หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงาน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการปฏิบัติงานต้องให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและนโยบายของกระทรวงแรงงาน ขอให้มุ่งมั่นตั้งใจทำงาน เน้นการทำงานเชิงรุก สร้างสรรค์งานใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้าง นายจ้าง สร้างหลักประกันด้านคุณภาพชีวิตแรงงาน ติดตามข้อมูลข่าวสารสถานการณ์ต่าง ๆทั้งในและต่างประเทศ เพื่อวิเคราะห์ถึงผลกระทบด้านแรงงาน สอดส่องดูแลการค้ามนุษย์ เพื่อขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างมีระบบ
ในส่วนของการพัฒนาศักยภาพแรงงานจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ภาค 12 สงขลา และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน จ.ยะลา/ปัตตานี/นราธิวาส และสตูล ได้มุ่งเน้นพัฒนาทักษะฝีมือให้กับกำลังแรงงานและประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะมีส่วนเสริมสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่คนท้องถิ่น โดยมีการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ผู้ประกอบการ ตามแนวทางประชารัฐตามนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนการยกระดับคุณภาพชีวิตของกำลังแรงงานและประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยสถาบันฯ มีเป้าหมายการฝึกรวม 54,213 คน แยกเป็น ดำเนินการฝึกเอง 4,213 คน และส่งเสริมเอกชนร่วมฝึก 50,000 คน ปัจจุบัน (ณ 15 ม.ค. 59) ฝึกแล้ว 21,285 คน ทั้งยังร่วมการฝึกอบรมกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น การฝึกอบรมภายใต้งบประมาณของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หน่วยงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทาน (มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ) หน่วยงานของกระทรวงมหาดไทย และนอกจากนั้นได้มีข้อสั่งการของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้มีการฝึกอบรมในกลุ่มเป้าหมาย "โครงการพาคนกลับบ้าน" คือหน่วยงานด้านความมั่นคงจะเป็นผู้คัดกรองเป้าหมายเข้ารับการฝึกอบรม เพื่อเป็นการเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ความไม่สงบ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ตั้งเป้าฝึกอบรมเพิ่มเติมอีก 2,000 คน (สงขลา 400 คน ยะลา 550 คน ปัตตานี 550 คน และนราธิวาส 500 คน) ด้วย
พลเอก ศิริชัยฯ กล่าวในท้ายที่สุดว่า เพื่อให้การดำเนินงานในพื้นที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ได้มีการจ้าง "บัณฑิตแรงงาน" ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ซึ่งเป็นคนในพื้นที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ปัจจุบันมีจำนวน 380 คน โดยประจำที่อำเภอและตำบล เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการประสานความเข้าใจระหว่างรัฐบาลกับประชาชนในพื้นที่ พร้อมนำภารกิจและบริการของกระทรวงสู่ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว พร้อมจัดให้มีอาสาสมัครแรงงานครอบคลุมในทุกตำบล 413 คน ใน 5 จังหวัดด้วย เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านแรงงานให้ประชาชนอย่างทั่วถึง