สำหรับสถานการณ์ด้านการผลิตกุ้งไทยตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม 2558 มียอดผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 263,122.97 ตัน โดยแบ่งเป็นผลผลิตที่มีการบริโภคภายในประเทศรวม 32,784.90 ตัน และเป็นผลผลิตที่ซื้อขายผ่านระบบหนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำ 230,338.07 ตัน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปี 2557 ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน เฉพาะในส่วนที่ซื้อขายผ่านระบบหนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำประมาณ 5.93 % และเมื่อรวมผลผลิตที่มีการบริโภคภายในประเทศจะมีสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น ประมาณ 21.01 % ซึ่งดูแล้วทิศทางอุตสาหกรรมกุ้งไทยสดใสมากขึ้น ประกอบกับปีหน้าไทยได้เปรียบทางขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านประสบปัญหาโรคระบาด และสารตกค้าง จึงทำให้เป็นโอกาสดีของประเทศไทยที่จะได้ส่วนแบ่งทางการตลาดคืนกลับมา ดังนั้น เราจึงต้องใช้ข้อได้เปรียบนี้ เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าของเรา ซึ่งได้มอบหมายให้คณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมกุ้งทะเลของไทยไปหาข้อมูลและประชุมวางแผนตลอดห่วงโซ่การผลิตแล้ว
ส่วนแผนการดำเนินการผลิตกุ้งทั้งระบบในปี 2559 มีประมาณการผลผลิตที่ 300,000 ตัน แบ่งเป็นการผลิตกุ้งขาวแวนนาไม 288,000 ตัน กุ้งกุลาดำ 12,000 ตัน และมีแผนการส่งออก 230,000 ตัน โดยเพิ่มการกำกับดูแลคุณภาพพ่อแม่พันธุ์ ส่งเสริมการใช้ลูกพันธุ์กุ้งคุณภาพ ที่ผ่านการตรวจคัดกรองโรคกุ้งทะเล ส่งเสริมให้ใช้จุลินทรีย์ ปม.1 เพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลการออกใบเคลื่อนย้ายกุ้งและลูกกุ้งให้มีความถูกต้องและรวดเร็ว สนับสนุนเกษตรกรให้รวมกลุ่มในรูปแบบสหกรณ์เพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองราคา หาช่องทางการตลาดเพื่อรองรับผลผลิต กำกับดูแลเกษตรกรให้ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และข้อบังคับ ของประเทศคู่ค้า ผลักดันให้เกิดการทำตลาดที่มั่นคง
สุดท้ายวอนให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง และผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับกระบวนการบริหารจัดการตลอดสายการผลิตและดำเนินแนวทางตามแผนที่ได้วางไว้เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของอุตสาหกรรมกุ้งไทย อธิบดีกรมประมง กล่าว