นายสว่าง สุขศรี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านบริหารทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทให้ความสำคัญต่อการดูแลแรงงานทุกเชื้อชาติด้วยความเป็นธรรมและเท่าเทียม โดยกำหนดยุทธศาสตร์ "3P" ในการบริหารแรงงานตามหลักสิทธิมนุษยชนและต่อต้านการค้ามนุษย์ อันประกอบไปด้วย P-Policy การดำเนินนโยบายสอดคล้องมาตรฐานแรงงานสากลและหลักสิทธิมนุษยชนโลก , P-Practice การปฏิบัติที่ดีต่อแรงงานทุกระดับ และ P-Partnership ความร่วมมือระหว่างบริษัทและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ การสร้างความร่วมมือกับภาครัฐ สมาพันธ์ สมาคม และภาคประชาสังคม ในการช่วยเหลือและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานต่างด้าวทุกสัญชาติ (เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา) ตลอดจนถึงครอบครัว ให้ได้รับการปฏิบัติเทียบเท่าแรงงานไทย
"ที่ผ่านมา ซีพีเอฟ ตระหนักและให้ความสำคัญต่อการบริหารแรงงานต่างด้าวอย่างเสมอภาคเทียบเท่าแรงงานไทย การลงพื้นที่โรงเรียนวัดเกาะ(สำลีราษฎร์อุปถัมภ์) จังหวัดสมุทรสาครครั้งนี้ บริษัทได้เดินตามยุทธศาสตร์ P-Partnership ในการประสานความร่วมมือกับเครือข่ายอย่าง มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน และ สถาบันพัฒนาผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อมอบโอกาสทางการศึกษาไปสู่บุตรหลานแรงงานต่างด้าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานเมียนมาร์ในพื้นที่ ด้วยเชื่อว่า เด็กทุกคนควรได้รับสิทธิทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติและสัญชาติ ซึ่งเด็กๆลูกหลานแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ควรมีสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จำเป็น" นายสว่างกล่าว
กิจกรรม "ซี.พี.จิตอาสา เติมฝัน ปันยิ้ม" ถือเป็นความร่วมมือระหว่าง ซีพีเอฟ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) และ สถาบันพัฒนาผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในการส่งมอบอุปกรณ์การศึกษา การปรับภูมิทัศน์สนามเด็กเล่นและปรับปรุงสาธาณูปโภคต่างๆ อาทิ ห้องน้ำ ระบบท่อประปา ฯลฯ รวมไปถึงถ่ายทอดองค์ความรู้จัดทำแปลงพืชผักสวนครัว และวิธีการปลูกผักเพื่อนำเป็นอาหารกลางวัน ด้วยหวังว่าเยาวชนทุกเชื้อชาติสัญชาติ ควรได้รับสุขอนามัยและโภชนาการที่ดี มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และมีทักษะความรู้ที่สามารถนำไปเลี้ยงชีพได้ในอนาคต
นอกเหนือจากกิจกรรมดังกล่าว ซีพีเอฟ ยังได้จับมือกับ องค์การสะพานปลา และ ภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องด้านแรงงาน จัดตั้ง ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มแรงงานประมงและครอบครัว ณ ท่าเทียบเรือประมงสงขลา จ.สงขลา เพื่อเป็นศูนย์ช่วยเหลือและป้องกันการค้ามนุษย์ รวมถึงเป็นศูนย์ประสานงานรับแจ้งเรื่องร้องทุกข์ของแรงงานประมง ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ หรือได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมในพื้นที่ด้วยเช่นกัน
ซีพีเอฟ ยึดแนวทางปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติและปฏิญญาด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ไม่เพียงแต่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานในโรงงานของบริษัทอย่างเท่าเทียม แต่ยังพร้อมผนึกกำลังกับทุกภาคส่วนในการขยายความช่วยเหลือไปสู่ครอบครัวแรงงานต่าวด้าวในประเทศไทย ภายใต้ยุทธศาสตร์ "3P" ในการสร้างมาตรฐานปฏิบัติต่อแรงงานทุกเชื้อชาติด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรม./