ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30-31 มกราคม 2559 ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการนโยบาย 3 คณะ ในฐานะที่ตนเป็นกรรมการนโยบายสถาบันทางการเงิน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งในส่วนของคปภ. จะเน้นในการบูรณาการการทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลระบบประกันภัยอย่างครบวงจร
ทั้งนี้ก่อนการเข้าประชุมดังกล่าว 1 วัน คือวันที่ 29 มกราคม 2559 ตนและคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ได้ใช้โอกาสที่เดินทางมาที่จังหวัดเชียงใหม่ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลโดยสุ่มตรวจธนาคารพาณิชย์ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ว่าได้ปฏิบัติตามประกาศ คปภ. เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย และการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต และธนาคาร พ.ศ. 2551 และประกาศ คปภ. เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย และการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันวินาศภัย นายหน้าประกันวินาศภัย และธนาคาร พ.ศ. 2552 หรือไม่ หลังจากได้สั่งการให้สำนักงานคปภ.จังหวัดทั่วประเทศลงพื้นที่สำรวจข้อมูลและแนะนำให้มีการปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวไปแล้ว ซึ่งพบว่า มีธนาคารพาณิชย์บางส่วนที่ได้ปรับปรุงตามข้อแนะนำของสำนักงานคปภ.จังหวัดแล้ว แต่มีบางส่วนยังไม่ปฏิบัติตามประกาศฯ เช่น ไม่แสดงป้ายเจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่ขายประกัน ไม่ได้แบ่งแยกพื้นที่ขายประกันออกเป็นสัดส่วนทำให้ประชาชนไม่สามารถแยกแยะได้ว่า เป็นการใช้บริการทางการเงินของธนาคารหรือกำลังถูกเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกัน ฯลฯ โดยคาดว่ายังมีธนาคารพาณิชย์หลายแห่งในหลายจังหวัดที่ปฏิบัติเช่นนี้ ซึ่งคปภ.จะเร่งสร้างความเข้าใจกับธนาคารพาณิชย์ให้ปฏิบัติตามประกาศฯคปภ.อย่างเคร่งครัด โดยจะใช้มาตรการเบาไปหาหนักต่อไป
สำหรับในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีธนาคารพาณิชย์เปิดให้บริการจำนวน 19 ธนาคาร มีสาขาทั้งหมด 310 สาขา ซึ่งก่อนหน้านี้ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2558 สำนักงาน คปภ. ได้สั่งการให้สำนักงาน คปภ. ภาค /จังหวัด ทั่วประเทศประสานกับธนาคารพาณิชย์ในพื้นที่ เพื่อติดตาม และรวบรวมข้อมูลกระบวนการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยว่ามีความถูกต้องตรงตามประกาศ คปภ. หรือไม่ อย่างไร และขอความร่วมมือให้ธนาคารดำเนินการตามประกาศ คปภ. อย่างเคร่งครัดโดยให้สำนักงาน คปภ. จังหวัด รายงานผลการดำเนินงานพร้อมแจ้งประเด็นปัญหาอุปสรรคหรือข้อขัดข้องและเร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย รวมถึงแนวทางปฏิบัติ ในการซื้อประกันภัยผ่านช่องทางธนาคาร (Bancassurance) เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากระบบประกันภัยด้วยความเป็นธรรม
ในโอกาสนี้เลขาธิการคปภ.ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารของธนาคารพาณิชย์ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ชมรมประกันวินาศภัยจังหวัดเชียงใหม่ และสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงินจังหวัดเชียงใหม่ กว่า 100 คน เพื่อทำความเข้าใจและขอความร่วมมือในการปฏิบัติตามประกาศ คปภ. เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย และการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต และธนาคาร พ.ศ. 2551 และประกาศ คปภ. เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย และการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันวินาศภัย นายหน้าประกันวินาศภัย และธนาคาร พ.ศ. 2552 อย่างเคร่งครัด
ดร.สุทธิพล กล่าวว่า สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาข้อร้องเรียนกรณีการขายประกันผ่านช่องทางธนาคารพาณิชย์ให้เห็นเป็นรูปธรรมนั้นได้กำชับการทำหน้าที่ในการเสนอขายประกันของพนักงานธนาคารพาณิชย์จะต้องแสดงให้ปรากฏชัดแจ้งว่าเป็นการเสนอขายกรมธรรม์ประกันชีวิต โดยต้องอธิบายความแตกต่างระหว่างการประกันชีวิตกับการฝากเงินกับธนาคารก่อนเสนอขายทุกครั้ง ทั้งนี้การทำประกันภัยของลูกค้าธนาคารต้องเป็นไปโดยความสมัครใจ ห้ามมิให้มีการบังคับ หรือใช้เป็นเงื่อนไขในการต่อรองการให้สินเชื่อหรือธุรกรรมอื่นใดของธนาคาร
ในการดำเนินการข้างต้นจะให้ความสำคัญในการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานคปภ.กับสมาคมธนาคารไทยเพื่อวางแนวปฏิบัติให้ชัดเจนขึ้นเพื่อมิให้มีปัญหาในทางปฏิบัติ และกำหนดมาตรฐานการขายประกันคุ้มครองสินเชื่อธนาคารเพื่อความเหมาะสม ซึ่งนอกจากธนาคารแล้ว ตัวแทนที่รับช่วงการขายประกันจากธนาคาร จะต้องมีการทำงานในลักษณะที่สอดคล้องกันมีการกำกับบุคลากรในการขายอย่างเคร่งครัด โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเดียวกัน ในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อเสริมความมั่นใจให้กับประชาชนอันเป็นการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด และเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนอีกด้วย
"ผมขอย้ำว่า คปภ.มิได้มีนโยบายห้ามธนาคารพาณิชย์ขายประกันผ่านช่องทางของธนาคารพาณิชย์ แต่อย่างใด เพียงต้องการสร้างความชัดเจน ตลอดจนวิธีการขายประกันให้เป็นไปตามประกาศ คปภ.เท่านั้น และเพื่อเป็นการเข้าไปคุ้มครองประชาชนไม่ให้ถูกบังคับซื้อประกันโดยไม่สมัครใจ หรือไปซื้อประกันโดยคิดว่าเป็นบริการฝากเงินรูปแบบหนึ่งของธนาคาร เพราะความยั่งยืนของธุรกิจประกันภัยขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของประชาชน" ดร.สุทธิพล กล่าวย้ำในตอนท้าย