ในขณะเดียวกัน การนำเข้าทุเรียนผ่านคุนหมิงมีมากถึง 3,621 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 197.80 และการนำเข้าผ่านหนานหนิงมีปริมาณ 239 ตัน แสดงให้เห็นว่า การขนส่งทุเรียนสดจากไทยมายังจีนด้วยเส้นทางการขนส่งทางบกจากไทยผ่านลาวเข้าจีนทางมณฑลยูนนานโดยเส้นทาง R3A และเส้นทางการขนส่งทางบกจากไทย ผ่านลาวและเวียดนามเข้าจีนทางเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง โดยเส้นทาง R9/R8/R12 มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องด้วยความสะดวกของเส้นทาง และระยะเวลาในการขนส่งที่สั้นกว่าการขนส่งทางเรือตามเส้นทางหลักที่นำเข้าแล้วจึงกระจายไปยังภาคอื่นๆ ของจีน
อย่างไรก็ตาม ภายหลังกรณีการโจมตีทุเรียนไทยในโซเชียลมีเดียของจีนในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2558 พบว่า ทุเรียนที่จำหน่ายในท้องตลาดจีนที่ติดหรือไม่ติดฉลากของกรมวิชาการเกษตร มีการชุบขมิ้นน้อยลง หรือไม่ได้เข้มจนทุเรียนออกสีเหลืองทองเหมือนเมื่อก่อน อีกทั้งราคาขายปลีกก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลังจากการโจมตีทุเรียนไทย ทั้งนี้ ฮ่องกงและจีนต่างไม่อนุญาตให้ใช้สีผสมอาหารใดๆ กับผลไม้สดที่ไม่ได้แปรรูป และสารเร่งสุกที่ตกค้างในทุเรียนจะต้องไม่เกิน 2 ppm ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อกำหนดดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนของไทยในอนาคตได้
" ในอีก 3 หรือ 4 เดือนข้างหน้า ก็จะถึงฤดูกาลที่ผลผลิตทุเรียนไทยจะออกสู่ตลาด และมีการส่งออกทุเรียนสดไปยังตลาดจีนและฮ่องกงอีกรอบหนึ่ง ดังนั้น เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้มีการส่งออกทุเรียนไทยที่มีคุณภาพไปยังตลาดหลักให้มีปริมาณที่มากขึ้นในปี 2559 เกษตรกรผู้ส่งออกทุเรียนและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงควรจะตระหนักและให้ความสำคัญกับคุณภาพของทุเรียนและระเบียบข้อกำหนดต่างๆ ของรัฐบาลจีน เพื่อให้ผู้บริโภคชาวจีนและตลาดเกิดความเชื่อมั่นในทุเรียนไทย ขณะที่ภาครัฐและเอกชนควรประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคชาวจีนทราบถึงการควบคุมคุณภาพของทุเรียนของไทยที่ส่งออกไปต่างประเทศ และการติดฉลากทุเรียนของไทยที่ส่งออกไปจีน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อทุเรียนคุณภาพดีจากไทยได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งลดปัญหาการแอบอ้างชื่อเสียงของทุเรียนไทยในตลาดจีนได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ควรส่งเสริมและทำตลาดทุเรียนคุณภาพพันธุ์ใหม่ๆ ของไทย พร้อมทั้งกวดขันไม่ให้มีการส่งออกทุเรียนดิบมาขายในตลาดจีน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาพพจน์ที่ไม่ดีในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนด้วย" นายศักด์ชัย กล่าว