กรณี ทันตแพทย์หญิงหนีทุน ทำให้สังคมไทยมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากถึง จริยธรรม ความรับผิดชอบ ตลอดจนความซื่อสัตย์ กตัญญูรู้คุณ นักวิชาการจากโครงการภาคีพูนพลังครู ชี้เป็นผลจากระบบการศึกษาที่มุ่งเน้นแต่วิชาการ แนะสถาบันการศึกษาและครอบครัวให้ความสำคัญในการบ่มเพาะ "คุณลักษณะนิสัยที่ดี" กับเด็กและเยาวชน
ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ อดีตรองเลขาธิการสภาการศึกษา และปัจจุบันดำเนินโครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง (Teacher Coaching) ให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ว่า "สะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาสอนแต่อาชีพ สอนคน สอนวิชา แต่ยังขาดเรื่องการปลูกฝังคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้กับเด็ก ซึ่งตรงนี้สำคัญมากสิ่งที่สถาบันการศึกษาต้องปลูกฝังเพิ่มอีก 3 เรื่องคือ 1.ความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น 2.ความมีวินัย คือมีวินัยในตนเอง 3. มีความซื่อตรงคงมั่น คือ มีคุณธรรม ความซื่อสัตย์ สิ่งเหล่านี้ต้องสอนควบคู่กันกับการสอนเรื่องความรู้ และทักษะ"
ดร.เจือจันทร์ ได้แนะแนวทางการวางรากฐาน ความรู้ ทักษะ และลักษณะนิสัยให้กับเด็กๆในโรงเรียนว่า "ในระดับพื้นฐานอนุบาล แรกๆ ครูต้องสร้างคุณลักษณะนิสัยของเด็กก่อน พอโตขึ้นมาหน่อยชั้นประถม - มัธยม ครูก็ปลูกฝังเรื่องสร้างคุณลักษณะนิสัยควบคู่ไปกับการสอนวิชาความรู้ พอสูงขึ้นมาหน่อยก็เสริมเรื่องวิชาชีพเข้าไปเพื่อให้นำไปประกอบอาชีพได้ แต่ทั้งสามส่วนนี้ไม่ได้แยกส่วนกันจนเด็กจบการศึกษาไป"
ดร.เจือจันทร์กล่าวเพิ่มเติมว่า การปลูกฝังคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้กับเด็กและเยาวชนนั้น ไม่ใช่เพียงแต่เป็นภาระของสถานศึกษาเท่านั้น แต่ต้องเริ่มจากสถาบัน "ครอบครัว" "การกล่อมเกลาในครอบครัวนี่ มีส่วนสำคัญมากก่อนที่จะส่งเข้าสู่โรงเรียน ถ้ามีการปลูกฝังตั้งแต่แรกให้เด็กมีวินัย เด็กคนนั้นก็จะไม่เกียจคร้าน ยกตัวอย่างที่ทำง่ายๆ ตั้งแต่เล็กๆ ถ้าพ่อแม่ให้รู้จักหน้าที่ ลูกกินข้าวเสร็จให้ช่วยกันเก็บ ก็จะเป็นการฝึกการงานให้เขาด้วย นี่เป็นการเริ่มฝึกการงานตั้งแต่ระดับในบ้าน ต่อไปก็ไปฝึกในระดับประกอบอาชีพได้ ถ้าทั้งโรงเรียนและครอบครัวช่วยกันปลูกฝังเรื่องคุณลักษณะข้างต้นนี้อย่างต่อเนื่อง จะสร้างให้เด็กเกิดความเข้มแข็งพอ ไม่ว่าจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมไหนก็จะไม่เกิดความไขว้เขว้แบบกรณีนี้"
ทางด้าน ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ จากมูลนิธิเพื่อพัฒนาการศึกษาไทย กล่าวว่าได้มองเห็นในประเด็นเดียวกับดร.เจือจันทร์ คือในเรื่องของความรับผิดชอบและการมีคุณธรรม จริยธรรม "นี่คือสิ่งเริ่มต้นที่ชี้ให้เห็นว่าครอบครัวกับสังคม ไม่ได้ช่วยให้คนไทยส่วนหนึ่งมีการพัฒนาเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ความรับผิดชอบต่อผู้มีพระคุณ เพราะฉะนั้นเขาขาดคุณสมบัติเรื่องความรับผิดชอบ ความรับผิดชอบตัวนี้ไม่ใช่ Responsibility แต่เป็นเรื่องของความรับผิดรับชอบ Accounttability ซึ่งตรงนี้สังคมไทยเราเป็นปัญหามาก คือคนไม่รับผิดชอบในการกระทำของตัวเอง และขาดเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ที่เรียกว่าความกตัญญกตเวทีคุณลักษณะเรื่องของความรับผิดชอบ คุณธรรม จริยธรรม ความกตัญญู เป็นคุณลักษณะนิสัยที่ต้องสร้างให้กับเด็ก ให้กับคนไทย ผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือครอบครัว ร่วมทั้งโรงเรียนด้วย"
นอกจากนี้ ดร.เลขา ได้มองว่าเรื่องของระบบก็จะมีส่วนช่วยในการจัดการปัญหานี้ได้เหมือนกัน "และมองว่ากรณีนี้เป็นเรื่องของระบบ ระบบทำให้เกิดปัญหา การที่ลาออกจากราชการระบบควรจะตรวจสอบว่าเขามีภาระผูกพันอะไรอยู่หรือเปล่าก่อนที่จะออก นี่คือก้าวแรกของการตัดตอนปัญหาต่างๆ" ดร.เลขากล่าวทิ้งท้าย
สำหรับ ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ หัวหน้าโครงการเพาะพันธ์ปัญญา (สกว.) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) ได้ให้ความเห็นว่า "จากกรณีนี้ผมมีมุมมองในแง่ ที่เขาไม่สามารถอยู่บนโลกเป็นจริงอีกต่อไปแล้ว ถ้าหากว่าเขาไม่สามารถปรับตัวให้มีความรับผิดชอบ มีคุณธรรมที่ถูกต้องเขาไม่สามารถอยู่รอดไปได้ จริงๆแล้วในโลกปัจจุบันพฤติกรรมแบบนี้มีให้เห็นอยู่เยอะ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างการปลูกฝังลักษณะนิสัยให้เด็กของพ่อแม่กับสภาพสังคมข้างนอก วันนี้สภาพสังคมข้างนอกมันเปลี่ยนเร็วมากกว่าสภาพการดูแลของพ่อแม่ เป็นสภาพของสังคมที่ตัวพ่อแม่ไม่มีเวลาดู จึงทำให้ข้างนอกต้องเลี้ยงลูกแทนก็เลยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นเยอะ สุดท้ายผมคิดว่าสถาบันครอบครัวมีความสำคัญต้องเป็นผู้ดูแลและปลูกฝังนิสัยเด็กนั่นเอง"
หากกรณีนี้จะทำให้ครอบครัว สถาบันการศึกษา และสังคมไทย เกิดความตระหนักและมองเห็นปัญหาที่ต้นตอของเรื่องนี้ คือเรายังขาดการสร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้กับเด็ก เรื่องนี้น่าจะเป็น "ตัวจุดประกาย"ให้ทุกฝ่ายหันกันมาร่วม "บ่มเพาะ" คุณลักษณะนิสัยที่ดีให้เด็กอย่างจริงจังเสียที