กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--ปตท.
วันนี้ 29 เมษายน 2548 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจากศาลล้มละลายกลางในการจัดหาผู้ร่วมลงทุน และจัดสรรหุ้นของบริษัท อุตสาหกรรม
ปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) (TPI) ได้มีการตกลงราคาเบื้องต้นของหุ้น TPI และ เงื่อนไขหลักที่จะมีในสัญญาซื้อขายหุ้นของ TPI โดย ปตท. ตกลงจะเข้าร่วมลงทุนใน TPI ในสัดส่วนร้อยละ 31.5 ของหุ้นทั้งหมดของ TPI (ซึ่งจะปรับลดลงเหลือร้อยละ 30 ภายหลังจาก TPI ออกหุ้นเพิ่มเติมเพื่อเสนอขายให้แก่พนักงานของ TPI และบริษัทย่อย หรือ ESOP) หรือเทียบเท่าประมาณ 6,143 ล้านหุ้น ในราคาเบื้องต้น 3.30 บาท ต่อหุ้น ซึ่งคิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 20,270 ล้านบาท (หรือประมาณ 520 ล้านเหรียญสหรัฐ) ทั้งนี้ การซื้อขายหุ้น ตลอดจน ราคาซื้อขายสุดท้ายของหุ้น TPI ยังขึ้นอยู่กับผลการตรวจสอบสถานะ TPI และบริษัทย่อยในรายละเอียดเพิ่มเติม (Confirmatory Due Diligence) และเงื่อนไขต่างๆ ในสัญญาซื้อขายหุ้น TPI ซึ่งจะมีข้อตกลงและการลงนามในอนาคตต่อไป
นอกจากนี้ ปตท. คาดว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆ ในสัญญาซื้อขายหุ้นภายในเดือนพฤษภาคม โดย ปตท. และผู้ร่วมลงทุนจะเข้าร่วมลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับ TPI และผู้ถือหุ้นเดิมที่เสนอขายหุ้นภายในเดือนมิถุนายน ศกนี้ ตามเจตนารมณ์ที่ระบุไว้ในบันทึกความเข้าใจร่วมในการร่วมลงทุนใน TPI ทั้งนี้การชำระเงินค่าหุ้นจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่ TPI และบริษัทย่อยออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งไม่เกินวันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 ตามที่ระบุในแผนการฟื้นฟูกิจการของ TPI โดยภายหลังจากซื้อขายหุ้น TPI เรียบร้อยแล้ว ปตท. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และ ธนาคารออมสิน จะถือหุ้นรวมกันในสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 ของหุ้น TPI ทั้งหมด
สำหรับการพิจารณาวิเคราะห์การลงทุนดังกล่าว ปตท. ได้มีการดำเนินการวิเคราะห์ตรวจสอบการดำเนินกิจการ แผนธุรกิจ และประมาณการทางการเงินของ TPI และบริษัทย่อยอย่างละเอียด เพื่อสร้างความมั่นใจว่า การเข้าร่วมลงทุนใน TPI ได้ปฏิบัติตามแนวทางและข้อกำหนดการลงทุนของ ปตท. และสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้แก่ ปตท. ในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ต่อปีตามที่กำหนด
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของ ปตท. ได้กล่าวเน้นว่า “การเข้าร่วมลงทุนใน TPI จะทำให้ ปตท. สามารถใช้ธุรกิจของ TPI ในปัจจุบันเป็นฐานในการขยายการลงทุนของ ปตท. ไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีแบบครบวงจร (Fully Integrated) โดย ปตท. มีเป้าหมายที่จะเข้าไปปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ทรัพย์สินของ TPI ซึ่งอาจยังไม่ได้ใช้งานอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ปตท. จะมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของธุรกิจที่เกื้อกูลกัน หรือ Synergies ในหลายๆ ส่วน อาทิเช่น การจัดหาน้ำมันดิบและวัตถุดิบ (Feedstock) การทำการตลาดและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ (Marketing and Trading) ของกลุ่มน้ำมันและปิโตรเคมี และเนื่องจาก ปตท. จะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในธุรกิจน้ำมันและปิโตรเคมี ปตท. จะเข้าไปมีบทบาทในการบริหารจัดการธุรกิจของ TPI เพื่อให้แน่ใจว่า ภายหลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว ธุรกิจของ TPI และบริษัทย่อย จะสามารถดำเนินงานได้อย่างราบรื่น และสามารถเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการดำเนินงานและความสามารถในการแข่งขันของ TPI และบริษัทย่อย ตลอดจนมีระบบบรรษัทภิบาลตามมาตรฐาน และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นด้วย”
ในการประเมินโอกาสในการลงทุน ปตท. ได้ว่าจ้างบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัท Citigroup Global Markets Asia Pacific Limited เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในและต่างประเทศ บริษัท ลิ้งค์เลเทอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท KBC Advance Technology Pte, Ltd. เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค และ Deloitte Touche Tohmatsu เป็นที่ปรึกษาเพื่อทำการตรวจสอบทางด้านเทคนิคและด้านบัญชี
หากมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก หน่วยงานผู้ลงทุนสัมพันธ์ 02 537- 2787-8
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)--จบ--
- ธ.ค. ๒๕๖๗ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เรียกร้องให้ TPIPL แก้ไขคุณสมบัติผู้บริหารเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้น
- ธ.ค. ๒๕๖๗ เอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส แถลงความคืบหน้าในการฟื้นฟูกิจการทีพีไอยังคงดำเนินไปด้วยดี แม้ต้องประสบกับมรสุมภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
- ธ.ค. ๒๕๖๗ TPI9: คณะกรรมการเจ้าหนี้ฯ กับบริษัทฯ เห็นชอบร่วมกันทำแผนฟื้นฟูฯ
- ธ.ค. ๒๕๖๗ เอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์สได้รับเลือกให้เป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของทีพีไอ