ธรรมศาสตร์ จับมือ ผู้ผลิตนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจากญี่ปุ่น เสริมความแกร่งศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย นำ “รถยนต์ส่วนบุคคลพลังงานไฟฟ้า” มาทดสอบเพื่อวิจัย

พฤหัส ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๖ ๑๖:๕๓
ธรรมศาสตร์ จับมือ ผู้ผลิตนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจากญี่ปุ่น เสริมความแกร่งศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย นำ "รถยนต์ส่วนบุคคลพลังงานไฟฟ้า" มาทดสอบเพื่อวิจัยและพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) จับมือ บริษัท FOMM Corporation ประเทศญี่ปุ่น และ บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ผลักดันศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เปิดทดสอบ"รถยนต์ส่วนบุคคลพลังงานไฟฟ้า" รถยนต์ส่วนบุคคลขนาดเล็ก 4 ที่นั่ง ที่มีการออกแบบตัวถังรถให้กันน้ำสามารถวิ่งได้ในสภาพน้ำท่วมขัง ตลอดจนสะดวกต่อการถอดเปลี่ยนและชาร์จได้ด้วยไฟบ้านทั่วไป เพื่อเป็นกรณีศึกษาในการวิจัยต่อยอดและพัฒนาทดสอบสมรรถนะ พร้อมวิเคราะห์ความต้องการของตลาดสำหรับการออกแบบการผลิต ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าว อยู่ภายใต้โครงการ "เครือข่ายศูนย์ส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนในประเทศไทย สาขาสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร" โดยมุ่งยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้มีศักยภาพเชิงนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น สอดรับกับนโยบายของภาครัฐในการเสริมแกร่งอุตสาหกรรมหลักของไทยให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับประเทศอย่างก้าวกระโดด พร้อมรองรับความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่การเป็น "ฮับ" การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำแห่งอาเซียน ทั้งนี้ พิธีลงนามความร่วมมือดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะผู้บริหารภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมจำนวนมาก

ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งเน้นการศึกษาวิจัย และผลิตบุคลากรคุณภาพป้อนอุตสาหกรรมไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมอันเป็นรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย โดยล่าสุด มธ.ได้จับมือกับ FOMM Corporation เปิดทดสอบ "รถยนต์ส่วนบุคคลพลังงานไฟฟ้า" ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรกของไทย พร้อมเตรียมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในเชิงองค์ความรู้ เพื่อต่อยอดไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าว อยู่ภายใต้โครงการ "เครือข่ายศูนย์ส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนในประเทศไทย สาขาสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติ

สิรินธร" จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นเครือข่ายร่วมในการให้บริการและสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทย โดยมุ่งสร้างความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษากับภาคเอกชนทั้งของไทยและต่างประเทศ ในด้านการพัฒนากำลังคนและสินค้านวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ศาสตราจารย์ ดร. สมนึก ตั้งเติมสิริกุล ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) กล่าวเสริมว่า สำหรับการดำเนินเครือข่ายความร่วมมือดังกล่าว ทาง FOMM Corporation บริษัทผู้บุกเบิกผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่น ได้ส่งมอบ "รถยนต์พลังงานไฟฟ้าต้นแบบ" จำนวนหนึ่งคันเพื่อใช้ในโครงการความร่วมมือทดสอบสมรรถนะและการใช้งานภายใต้สภาพแวดล้อมของไทยซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการเครือข่ายฯ ในการพัฒนางานวิจัย และบุคคลากรร่วมกับภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรมโดยนักศึกษา นักวิจัยและคณาจารย์ของสถาบัน จะได้ร่วมทดสอบสมรรถนะภายในมหาวิทยาลัย ทำการศึกษาวิจัยและวิเคราะห์ความต้องการของตลาด ตลอดจนประเมินแนวทางการพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพในด้านต่างๆ ที่สูงขึ้น เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน ผ่านการปรับโครงสร้างให้มีพื้นฐานที่เหมาะสม อาทิ การบริการสถานที่ชาร์จแบตเตอรี ระยะทางที่เหมาะสมในการจัดวางสถานี พฤติกรรมการขับขี่ที่ประหยัดพลังงานและปลอดภัย ระบบติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ขับขี่กับยานยนต์ และระบบอำนวยความสะดวกต่อผู้ขับขี่

นายพงษ์ชัย ชัยจิรวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจการตลาด บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ยังกล่าวอีกว่า บางจากฯ มีสถานีบริการน้ำมันกระจายอยู่กว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ จึงมีความพร้อมที่จะจัดเตรียมให้สถานีบริการน้ำมันบางจากเป็นจุดให้บริการชาร์จไฟและถอดเปลี่ยนแบตเตอรี่ รวมทั้งเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงขนาดย่อม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ทั้งนี้ การร่วมมือกับ FOMM Corporation และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะนำพาประเทศไทยสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและอนาคตที่ดีของคนไทย

­Mr. Hideo Tsurumaki ประธานกรรมการบริหาร บริษัท FOMM Corporation นำเสนอจุดเด่นของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ได้พัฒนาปรับปรุงขึ้นมาเป็นรุ่นที่สามแล้ว โดยเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าขนาด 4 ที่นั่ง ที่เล็กที่สุดคันแรกของโลก (เปิดตัวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2557) มีการออกแบบตัวถังรถให้กันน้ำ (Bath Tub Design) และมีขอบล้อที่มีลักษณะเป็นใบพัด ทำให้สามารถลอยตัวและขับเคลื่อนได้ในน้ำ แบตเตอรี่ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักได้ถูกออกแบบให้เป็นรูปแบบของคาสเซ็ท (Cassette) ทำให้สะดวกต่อการถอดเปลี่ยนและชาร์จได้ด้วยไฟบ้านทั่วไป ภายในติดตั้งด้วยระบบทำความเย็นกำลังสูงและประหยัดพลังงาน และมีระบบส่งกำลังแบบเฉพาะโดยมีมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนภายในล้อ (In-Wheel Motor Design)

ทั้งนี้ รถยนต์พลังงานไฟฟ้าถือเป็นกลุ่มสินค้านวัตกรรมอนาคตไกลที่มีโอกาสในการเติบโตสูงจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าตลาดโลกจะมีความต้องการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าประมาณ 541,000 คัน ในปี พ.ศ.2562 (จากความต้องการประมาณ 40,000 คัน ในปี พ.ศ.2554) สำหรับประเทศไทยที่มีความพร้อมทางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ในระดับแนวหน้าของอาเซียน อันสะท้อนผ่านโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern seaboard) นั้นถือได้ว่ามีศักยภาพทั้งในด้านบุคลากรและแหล่งวัตถุดิบที่จะสามารถต่อยอดประเทศไทยไปสู่การเป็น "ฮับ" ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำแห่งอาเซียนได้ อย่างไรก็ตาม รถยนต์พลังงานไฟฟ้านั้นยังเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องใช้เวลาในการศึกษาและพัฒนา โดยความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยนำมาซึ่งองค์ความรู้ที่ทันสมัย ตลอดจนช่วยยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในเชิงนวัตกรรม อันจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมแกร่งอุตสาหกรรมหลักของไทยให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับประเทศอย่างก้าวกระโดด สอดคล้องกับนโยบายที่ภาครัฐกำลังขับเคลื่อนอยู่ในปัจจุบัน

พิธีลงนามความร่วมมือดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคณะผู้บริหารภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมจำนวนมาก

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๔:๕๒ ดิเอมเมอรัลด์ช่วยสนับสนุนงานกาชาด
๑๔:๓๑ เอพี ไทยแลนด์ รับ 3 รางวัลจาก Meta ตอกย้ำจุดยืน แบรนด์อสังหาฯ ที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์และดาต้า
๑๔:๓๕ มาคาเลียส แหล่งรวม อี-วอเชอร์ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว อันดับ 1 ของประเทศไทย เผย 10 เทรนด์ท่องเที่ยวไทยปี
๑๔:๓๙ MOSHI ผู้นำธุรกิจค้าปลีกไลฟ์สไตล์รายใหญ่ของไทย ทุบสถิติไตรมาส 4 โชว์ SSSG พุ่งทะยานกว่า 20% รับความสำเร็จกลยุทธ์ Collaboration Project ตลอดปี 2567 มั่นใจกวาดรายได้ทะลุเป้าโต
๑๔:๒๑ Zentry เตรียมเปิดตัว Ragnarok Landverse บน Ronin เกม MMORPG ระดับตำนานที่มีผู้เล่นกว่า 100 ล้านคน เตรียมเปิดตัวในไตรมาสแรกของปี
๑๔:๔๕ การประชุมข้าวยั่งยืนระดับโลกเรียกร้องสู่การเปลี่ยนแปลงวงการข้าว เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
๑๔:๓๔ LPN คาดอสังหาฯ EEC ส่งสัญญาณบวกรับดีมานด์นักลงทุนจีนขยายฐานการผลิตชลบุรี-ระยอง ดัน EARN Condo by LPN รับอานิสงส์ปล่อยเช่า Yield ดีสูงสุด
๑๔:๕๐ โอเพ่นสเปซ กองทุนชั้นนำระดับภูมิภาค พร้อมผลักดันสตาร์ทอัพไทย เดินหน้าเพิ่มการลงทุนร่วมเสริมแกร่งอนาคตเทคโนโลยีไทย
๑๔:๓๘ เอเชี่ยน เคมิคัล ฝึกซ้อมแผนภาวะฉุกเฉินสารคลอรีนรั่วไหล ประจำปี 2567
๑๓:๒๗ กสิกรไทยสำรองเงินสด 35,900 ล้านบาท รับเทศกาลปีใหม่