นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เขตสุขภาพที่ ๑๐ เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศ 2 ฉบับ คือ 1.ประกาศ สธ. เรื่องเพิ่มเติมชื่อโรคติดต่อและอาการสำคัญ โดยระบุว่า อาการสำคัญ ได้แก่ มีอาการไข้ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ตาแดง บางรายอาจมีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย โดยทั่วไปจะมีอาการป่วยประมาณ 1 สัปดาห์ และ 2.ประกาศ สธ. เรื่องเพิ่มเติมชื่อโรคติดต่อต้อง แจ้งความระบุว่า โรคติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นโรคที่ต้องแจ้งความ พร้อมแถลงมาตรการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกา เน้นการดูแลใน 4 ระบบ ได้แก่ 1.เฝ้าระวังทางระบาดวิทยา 2.เฝ้าระวังทางกีฏวิทยา 3.เฝ้าระวังทารกแรกเกิด และ 4.เฝ้าระวังกลุ่มอาการทางประสาท รวมถึงการเตรียมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว หากพบประชาชนมีอาการป่วยที่เข้าได้กับโรคซิกาเป็นกลุ่มก้อน ก็จะให้ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วเข้าควบคุมทันที และจะมีการกำชับให้ด่านคุมโรคระหว่างประเทศทำงานให้เข้มข้นขึ้นอีก
นพ.มรุต กล่าวต่อว่า โรคติดเชื้อไวรัสซิกาไม่ได้เป็นเชื้อใหม่และในไทยพบผู้ป่วยรายแรกตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปี 2558 เฉลี่ยพบประมาณ 2-5 ราย ซึ่งอาการส่วนใหญ่จะหายได้เอง แต่จะเป็นห่วงเนื่องจากมีผลกระทบมากในกลุ่มของหญิงตั้งครรภ์ ที่หากเป็นไข้ดังกล่าวแล้ว จะส่งผลกระทบทำให้ทารกมีศีรษะเล็ก แต่ยังไม่เคยพบปัญหาทารกศีรษะเล็กเพราะมารดาป่วยโรค ซิกาในไทย ส่วนการพบผู้ป่วยในไทยก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะสามารถพบได้ และการตรวจพบผู้ป่วยแสดงให้เห็นว่าไทยมีระบบเฝ้าระวังที่ดีและเข้มแข็ง ดังนั้น ประชาชนจึงอย่าได้ตื่นตระหนก โดยสิ่งที่กระทรวงฯจะดำเนินการต่อคือ การกำจัดต้นเหตุของโรค เช่น การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งจะช่วยป้องกันได้ทั้งโรคไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา และโรคไข้ซิกา
ทั้งนี้ โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ยังไม่มีวัคซีนและยังไม่มียารักษาเฉพาะ จึงต้องรักษาตามอาการ คำแนะนำสำหรับประชาชน คือ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยเน้นใช้หลัก 3เก็บ ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้สะอาดเรียบร้อย ปลอดโปร่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะ รอบๆบ้าน ทั้งใบไม้ กล่องโฟม จานรองกระถางต้นไม้ ต้องเก็บกวาด ฝัง เผา หรือทำลาย และ 3.เก็บน้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในบริเวณครัวเรือน โรงเรียน เขตก่อสร้าง สถานีขนส่ง และหอพักรอบมหาวิทยาลัย เป็นต้น และป้องกันไม่ให้ยุงกัดด้วยการนอนในมุ้งหรือทายากันยุง ซึ่งเป็นการป้องกันควบคุมโรคเช่นเดียวกับไข้เลือดออก ส่วนผู้เดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาด รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในประเทศไทย หากมีอาการไข้ ออกผื่น ตาแดง หรือปวดข้อ ต้องรีบเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง หรือประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422.
ด้านนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่พบรายงานผู้ป่วยไข้ซิกาในจังหวัดอุบลราชธานี แต่ได้มีการเตรียมความพร้อม ในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิก้า ได้ทำความสะอาดจังหวัดอุบลราชธานีครั้งใหญ่แล้ว ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา โดยรณรงค์ทำความสะอาดบริเวณสำนักงาน ถนนและพื้นที่สาธารณะ ทั้งจังหวัดพร้อมกัน ซึ่งประโยชน์จากการทำบ้านเมืองให้สะอาดเก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ (3 เก็บ 3 โรค) จะส่งผลให้สิ่งแวดล้อมสะอาด สัตว์พาหะนำโรคลดจำนวนลง ซึ่งเป็นการป้องกันโรคหลายชนิด อาทิ โรคที่มียุงลายเป็นตัวนำโรค คือ โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า ไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นต้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวและเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของจังหวัดอุบลราชธานี โดยในปี 2559 จังหวัดอุบลราชธานีได้ประกาศให้เป็นปีแห่งการท่องเที่ยว โดยใช้ธีมการเชิญชวนผู้หญิงเที่ยวเมืองอุบล หรือ " Lady Destination @ Ubon "