ดร.ณพพงศ์ กล่าวเสริมว่า เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา สมาพันธ์ฯ ได้ประชุมสัญจรครั้งแรกกับสมาพันธ์ฯภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายฐานแนวคิดและนโยบายด้านการสร้างภาคีเครือข่ายให้กับกลุ่มเอสเอ็มอีไปยังภูมิภาคเพื่อให้ประธานสมาพันธ์ภาคและประธานสมาพันธ์จังหวัดมีโอกาสได้รับทราบทิศทางและแผนการทำงานของสมาพันธ์อย่างเป็นรูปธรรม นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ดังนั้นเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินงานจึงต้องเริ่มจัดกิจกรรมประชุมสัญจรไปยังภาคต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเร่งสานต่อนโยบายของภาครัฐบาล ในการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจประชารัฐ ที่ต้องการยกระดับธุรกิจเอสเอ็มอีไทยให้สามารถพัฒนาตนเอง และสามารถเชื่อมโยงกับแผนแม่บทของภาครัฐ อันจะเป็นการยกระดับการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีไทยอย่างยั่งยืนในอนาคตนั่นเอง
"ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของความสำเร็จของสมาพันธ์ SME ไทย ในระดับภาคที่เชื่อมโยงกับนโยบายเศรษฐกิจประชารัฐของรัฐบาล อาทิเช่น กลุ่มคลัสเตอร์เครื่องสำอาง มีการเชื่อมโยงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เข้ากับกลุ่มนักศึกษาภาควิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพ เชียงใหม่ ในโครงการร่วมพัฒนาเครื่องสำอางจากวัตถุดิบโดยพืชพื้นถิ่น ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จนได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความน่าสนใจ และสามารถพัฒนาต่อเพื่อแข่งขันในตลาดระดับสากลในลำดับต่อไปนอกจากนี้ยังมีความสำเร็จจากความร่วมมือในการพัฒนาโครงการประชารัฐที่จังหวัดยโสธร จนสามารถสร้างเป็น "ยโสธรโมเดล เมืองเกษตรอินทรีย์" โดยมีการลงนามความร่วมมือ (MOU) ของภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ร่วมกันอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่าน เป็นต้น รวมถึงยังมีการเดินหน้าพัฒนาโครงการร้อยร้านค้าเครือข่ายสมาพันธ์ซึ่งเป็นการจัดหาพื้นที่สำหรับจัดจำหน่ายสินค้าให้เครือข่ายของ SMEs ทั่วประเทศที่ได้รับการคัดเลือก มีช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านร้านค้าของโครงการ ซึ่งมีทั้งการขายออนไลน์ กับออฟไลน์เป็นต้น" ดร.ณพพงศ์ กล่าว
นอกจากนี้ สมาพันธ์ SME ไทย ได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ "การประเมินและวินิจฉัยสถานประกอบการเบื้องต้น" ภายใต้โครงการปรับแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ไปแล้วจำนวน 2 รุ่น โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมและสอบคัดเลือกเพื่อเป็นนักวินิจฉัยสถานประกอบการเบื้องต้นประมาณ 100 รายเพื่อเข้าไปวินิจฉัยธุรกิจSMEs ทุกระดับ ทุกภาคส่วน ให้เป็นในทิศทางเดียวกัน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มที่เริ่มต้นดำเนินธุรกิจ (Start Up), กลุ่มที่มีศักยภาพทางการตลาด (Rising Star) เป็นกิจการที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีแผนพัฒนาการผลิตหรือนวัตกรรม และกลุ่มที่อยู่ในช่วงฟื้นตัว (Turn Around) ซึ่งประสบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจเช่นยอดขายที่ลดลง ไม่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อรองรับกับแผนการช่วยเหลือและฟื้นฟูธุรกิจเอสเอ็มอีในโครงการอื่นๆ ในลำดับต่อไป
"กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ตั้งเป้าในการทำโครงการปรับแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs เบื้องต้น กับธุรกิจทั้ง 3 ประเภทไว้ในปีนี้ประมาณ 7,000 ราย โดยส่วนของสมาพันธ์ SME ไทย ได้รับมอบหมายให้เข้าไปสำรวจและวินิจฉัยการดำเนินธุรกิจผู้ประกอบการเบื้องต้นในพื้นที่ 12 จังหวัด หรือประมาณ 665 ราย จากจำนวนทั้งสิ้น 7,000 ราย ซึ่งหลังจากฝึกอบรมและคัดเลือกนักประเมินและวินิจฉัยสถานประกอบการเบื้องต้นแล้ว ก็พร้อมจะดำเนินงานได้ทันที ทั้งนี้ในการประชุมสัญจรของสมาพันธ์ในภาคอีสาน และภาคต่อๆ ไป จะมีการนำเสนอแนวคิดนี้เพื่อขยายฐานการสร้างเครือข่ายนักประเมินและวินิจฉัยสถานประกอบการไปยังภาคต่างๆ ด้วย" ดร.ณพพงศ์ กล่าว
ปัจจุบันสมาพันธ์ SME ไทย มีสมาชิกเครือข่ายองค์กรต่างๆ กว่า 100 องค์กรและมีผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs จากทั่วประเทศ ทยอยเข้าร่วมเป็นสมาชิกอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเตรียมแผนที่จะคัดนักธุรกิจคนรุ่นใหม่เข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะผู้ประกอบการใหม่ และเร่งสร้างเครือข่ายนักธุรกิจมืออาชีพหลากหลายสาขาที่รวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ธุรกิจ โดยตั้งเป้าหมายสร้าง 10,000 Start Up และมุ่งผลักดันเศรษฐกิจฐานรากของประเทศผ่านแนวคิด "รวมพลังคนตัวเล็ก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย" โดยมีสมาพันธ์ SME ไทย ให้เป็นองค์กรเพื่อการเชื่อมโยงนโยบายภาครัฐสู่ SMEs ทั่วประเทศ ในลำดับต่อไปสำหรับผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมการประชุมสมาพันธ์ SME ไทย สัญจรครั้งที่ 2 ณ ไร่ทองสมบูรณ์ จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์นี้ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณวิภาลักษณ์ ผู้จัดการสมาพันธ์ SME ไทย โทร 086 997 5197 หรือ อีเมล์ [email protected]