นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ตามที่มีการระบาดของเชื้อโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนกลายพันธุ์ในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และสถานการณ์ยังคงมีการระบาดอย่างต่อเนื่องจน สปป.ลาว ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระดับชาติ
ซึ่งภายหลังจากที่ประกาศภาวะฉุกเฉินฯ แล้ว สปป.ลาว ได้ออกมาตรการ 2 ข้อ ดังนี้ 1.ผู้พำนักในสปป.ลาว ต้องได้วัคซีนโปลิโออย่างน้อย 1 เดือนก่อนเดินทางออกนอกประเทศ และ 2.ผู้จะเดินทางเข้าในสปป.ลาว โดยมีแผนพำนักในลาวตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไปต้องได้รับวัคซีนก่อนเข้าประเทศ ทั้งนี้รัฐบาลของสปป.ลาว ได้มีหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้มีหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงมหาดไทยให้แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทราบและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวแล้ว
นพ.ศรายุธ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันประเทศไทยแม้จะมีสถานะปลอดโรคโปลิโอมาแล้ว 18 ปี แต่ยังอยู่ในสถานะที่มีความเสี่ยง ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่อโรคโปลิโอ เนื่องจากมีชายแดนติดกับประเทศที่มีการระบาดของโรคโปลิโอ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตรับผิดชอบของ สคร.10 มีจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 3 จังหวัด ได้แก่ จ.อุบลราชธานี จ.อำนาจเจริญ และ จ.มุกดาหาร และมีประชาชนเดินทางเข้าออกจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องสร้างเกราะคุ้มกันให้แก่ประเทศ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเมื่อมีผู้เดินทางเข้ามาภายในประเทศ ประเทศไทยจะมีภูมิคุ้มกันโรคที่ดีเพียงพอ มีระบบเฝ้าระวังที่สามารถค้นหาผู้ป่วยในระยะเริ่มแรกได้เร็ว และมีกลไกติดตามการดำเนินงานตามมาตรการต่างๆ ที่เข้มแข็งและต่อเนื่อง ซึ่งสคร.10 ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโปลิโอ (IPV) ไปแล้ว 2,400 ราย จากเป้าหมายทั้งหมด 2,700 คิดเป็น 80 เปอเซนต์ มากที่สุดในประเทศไทย
ทั้งนี้ พี่น้องประชาชนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะร่วมมือในการกวาดล้างโปลิโอ โดยนำบุตรหลานมารับวัคซีนตามกำหนด ซึ่งบุตรหลานของท่านจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคสำคัญอีกหลายชนิด โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา บุตรหลานของท่านจะได้รับวัคซีนโปลิโอชนิดฉีดเพิ่มเติมที่อายุ 4 เดือน ร่วมกับวัคซีนโปลิโอชนิดกินตามกำหนดเดิมที่อายุ 2 เดือน, 4 เดือน, 6 เดือน, 18 เดือนและ 4 ปี การเจ็บเพิ่ม 1 ครั้ง ถือว่าคุ้มค่าเพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันบุตรหลานของท่านให้ ปลอดภัยจากโรคโปลิโอที่อาจแพร่ระบาดมาจากประเทศอื่น
โดยกระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโปลิโอ 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.เร่งรัดเรื่องความครอบคลุมวัคซีนในเด็ก หากพื้นที่ใดมีความครอบคลุมของวัคซีนน้อยกว่าร้อยละ 90 ให้เร่งติดตามให้เด็กรับวัคซีนให้ครบถ้วนโดยเร็ว 2.เสริมความเข้มแข็งของระบบเฝ้าระวังผู้ป่วยอาการอัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกเฉียบพลัน โดยการแจ้งเตือนบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งเร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก และ 3.จัดให้มีกลไกติดตามระดับจังหวัดและกระทรวงสาธารณสุขอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422" นพ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย