พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) ได้ดำเนินโครงการบ้านมั่นคงทั่วประเทศตามนโยบายของรัฐบาล สำหรับเขตเทศบาลเมืองชุมแพ จังหวัดขอนแก่นได้เริ่มดำเนินโครงการ ในปี ๒๕๔๗ โดยเทศบาลเมืองชุมแพให้การสนับสนุน ประชาชนจึงรวมกลุ่มกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อระดมทุนในการสร้างบ้าน มีสถาปนิกชุมชนของ พอช. มาร่วมออกแบบบ้าน ซึ่งในปี ๒๕๔๘ จึงเริ่มสร้างบ้านมั่นคงจำนวน ๘ ชุมชน รวม ๓๙๕ ครัวเรือน พื้นที่ขนาดบ้านประมาณ ๒๐ ตารางวา โดย พอช. สนับสนุนสินเชื่อรายละ ๘๐,๐๐๐ – ๑๘๐,๐๐๐ บาท ผ่อนชำระคืนภายใน ๑๕ ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๔ บาทต่อปี และปัจจุบันมีชุมชนที่สร้างบ้านมั่นคงแล้ว ๑๓ ชุมชน รวมจำนวนทั้งสิ้น ๙๒๐ หลัง มูลค่าบ้านและที่ดินเพิ่มจากเดิมหลังละ ๒๓๐,๐๐๐-๒๕๐,๐๐๐ บาทเป็น ๔๐๐,๐๐๐ – ๕๐๐,๐๐๐ บาท หรือคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งหมดประมาณกว่า ๔๖๘ ล้านบาท
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า จากโครงการบ้านมั่นคงดังกล่าว ในปี ๒๕๕๐ ชาวชุมชนได้ร่วมกันก่อตั้ง "กองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองชุมแพ" โดยให้ชาวบ้านเข้าร่วมเป็นสมาชิกและสมทบเงินเข้ากองทุนทุกเดือนๆแล้วนำเงินกองทุนให้สมาชิกกู้ยืมหมุนเวียนเพื่อประกอบอาชีพ ปลดหนี้นอกระบบ ซ่อมแซมบ้าน การศึกษา ฯลฯวงเงินไม่เกิน ๕ เท่าของหุ้นสะสมที่สมาชิกมีอยู่ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๖ บาทต่อปี ส่วนผลกำไรก็จะกลับคืนมาช่วยเหลือสมาชิก ปัจจุบันมีกองทุนฯ จำนวนประมาณกว่า ๓๗ ล้านบาท และปี ๒๕๕๔ ชาวชุมชนได้เล็งเห็นความมั่นคงด้านอาหารจึงได้มีการซื้อที่ดินเพื่อทำนารวม เนื้อที่ ๓๘ ไร่ โดย พอช. ได้สนับสนุนสินเชื่อจำนวน ๒.๖ ล้านบาท มีชาวบ้านลงหุ้น ๑๕๐ หุ้นๆ ละ ๑๕๐ บาทเพื่อเป็นทุนในการทำนา และช่วยกันลงแรงทำนา ซึ่งปัจจุบันสามารถปลูกข้าวได้ปีละ ๒๐ ตัน
ขายเป็นรายได้เข้ากองทุนปีละกว่า ๒๐๐,๐๐๐ บาท ปัจจุบันที่นามีราคากว่า ๓๘ ล้านบาท ต่อมาในปี ๒๕๕๘ ชาวชุมชนได้ร่วมกันจัดตั้งโรงงานผลิตน้ำดื่มชุมชน นอกจากนี้ยังมีกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชน กองทุนปลดเปลื้องหนี้สินนอกระบบ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มออมทรัพย์เด็ก ฯลฯ รวมเป็นมูลค่าทั้งหมดประมาณ ๕๕๐ ล้านบาท
"กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ขอชื่นชมและแสดงความยินดีที่ชาวชุมชนในเขตเทศบาลเมืองชุมแพ ร่วมกันแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยจนประสบความสำเร็จ ทำให้ชาวชุมชนสามารถปลูกสร้างบ้านบนที่ดินที่เช่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีการร่วมกันระดมทุนจัดซื้อที่นาเพื่อทำนารวม สามารถปลูกข้าวเอาไว้กินเอง อีกทั้งยังร่วมกันจัดตั้งโรงงานผลิตน้ำดื่มเพื่อขายเป็นรายได้เข้าสู่ชุมชน และมีกองทุนอื่นๆ เพื่อเอาไว้ช่วยเหลือดูแลกันเอง ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตัวเองได้ และนำไปสู่การกินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้ลด เป็นต้นแบบที่ดีที่ชุมชนอื่นๆ สามารถนำไปใช้เป็นแบบอย่างในการพัฒนาชุมชน นับว่าเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากที่ชุมชนเป็นผู้ริเริ่ม โดยมีหน่วยงานรัฐและเอกชนให้การสนับสนุน ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดย พอช. รวมทั้งหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจะนำแบบอย่างดังกล่าว ไปขยายผลในพื้นที่ชุมชมต่างๆทั่วประเทศต่อไป" พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวในตอนท้าย