นายกุศล ชีวากร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าทิพย์สุโขทัย ไบโอเอนเนอยี่ ว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 36 MW ของ บริษัท ทิพย์สุโขทัย ไบโอเอนเนอยี่ จำกัด เป็นการนำวัตถุดิบที่เหลือใช้ทางการเกษตรมาเป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้า ส่งผลดีทั้งในด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมในระดับชุมชนและประเทศ ซึ่งการดำเนินงานของโรงไฟฟ้ามีการจัดหาและการใช้งานเทคโนโลยีไม่ยุ่งยาก สามารถนำไปประยุกต์ดำเนินการให้กับโรงงานในทุกพื้นที่มีวัตถุดิบชีวมวลเพียงพอ โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดและกำลังการผลิตให้มีความเหมาะสม จนสามารถคว้ารางวัลดีเด่น ด้านพลังงานทดแทน Thailand Energy Awards 2015 และรางวัลชนะเลิศ ASEAN Energy Awards 2015 ประเภทโครงการพลังงานความร้อนร่วมจากพลังงานหมุนเวียน (Co-generation) ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีแก่หน่วยงานอื่นๆ ในการร่วมกันสร้างสรรค์พัฒนาพลังงานของประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
นายวิธันยา นามลี ผู้อำนวยการโรงงาน บริษัท ทิพย์สุโขทัย ไบโอเอนเนอยี่ จำกัด กล่าวถึงความสำเร็จในครั้งนี้ว่า โรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัย มีชานอ้อยที่ได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลปริมาณมาก จึงได้ออกแบบจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 36 MW ภายในบริเวณโรงงานน้ำตาล โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำชานอ้อยที่เหลือจากกระบวนการหีบสกัดน้ำอ้อยของโรงงานน้ำตาลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยนำมาเป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าและไอน้ำเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตของโรงงานน้ำตาลและจำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่โรงงานและระบบไฟฟ้าในจังหวัดสุโขทัย
การดำเนินงานของโรงไฟฟ้า จะมีการทำสัญญาซื้อเชื้อเพลิงชานอ้อยจากโรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัย เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับหม้อไอน้ำ ขนาด 150 ตันต่อชั่วโมง จำนวน 3 ชุด ใช้ในการผลิตไอน้ำ โดยไอน้ำแรงดันต่ำจะจำหน่ายให้โรงงานน้ำตาลทั้งหมดเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาล ส่วนไอน้ำแรงดันสูงจะจำหน่ายให้โรงงานน้ำตาลเพื่อใช้ขับเคลื่อนเครื่องจักรในการหีบอ้อยเพียงบางส่วน ส่วนที่เหลือจะถูกส่งไปยัง Steam Turbine ที่เชื่อมต่อกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 18 MW จำนวน 2 ชุด เพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าจะแบ่งเป็น 4 ช่วง สอดคล้องกับฤดูกาลผลิตของโรงงานน้ำตาล ได้แก่
1. เดือนตุลาคม-เดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงที่โรงงานน้ำตาลหยุดการผลิตหรือนอกฤดูหีบ (Off Season) โรงไฟฟ้าจะผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้ กฟภ. เพียงอย่างเดียว
2. เดือนธันวาคม-เดือนมีนาคม เป็นช่วงฤดูหีบอ้อย (Crushing Season) ซึ่งโรงงานน้ำตาลต้องใช้พลังงานค่อนข้างมาก โรงไฟฟ้าจะผลิตไอน้ำแรงดันสูงและไฟฟ้าจำหน่ายให้โรงงานน้ำตาลและ กฟภ. โดยมีกำลังการผลิตสุทธิ 27 MW จำหน่ายให้แก่โรงงานน้ำตาล 15 MW, จำหน่ายให้ กฟภ. 8 MW และนำมาใช้เองภายในโรงไฟฟ้า 4 MW คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 42%, 22% และ 16% ตามลำดับ
3. เดือนเมษายน-เดือนสิงหาคม เป็นช่วงฤดูละลายน้ำตาล (Remelt Season) ซึ่งโรงงานน้ำตาลใช้พลังงานไม่มากนัก โรงไฟฟ้าจะผลิตไอน้ำแรงดันต่ำและไฟฟ้าจำหน่ายให้โรงงานน้ำตาลและ กฟภ.
4. เดือนกันยายน เป็นช่วงการหยุดเพื่อซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักรของโรงไฟฟ้า (Plant Shut down) โรงไฟฟ้าจะหยุดการผลิตไฟฟ้า และรับซื้อไฟฟ้าจาก กฟภ. เข้ามาใช้ภายในโรงไฟฟ้าแทน
ปัจจุบันโรงไฟฟ้าสามารถผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้ กฟภ. ได้ประมาณ 61.4 MWh ต่อปี และผลิตไอน้ำจำหน่ายให้โรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัย 818,919 ตันต่อปี เทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจก 34,437 tCO2 ต่อปี และ 188,251 tCO2 ต่อปี (รวม 222,688 tCO2 ต่อปี) โรงไฟฟ้าใช้เงินลงทุนประมาณ 1,663 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินหมุนเวียน) IRR 17.4% ระยะเวลาคืนทุน 5 ปี มีต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ย 46 ล้านบาทต่อ MW รายได้จากการขายไอน้ำและไฟฟ้า ประมาณ 516 ล้านบาทต่อปี