นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทตระหนักดีว่า ปัญหา สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้รุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา อาจมีภาวะฝนทิ้งช่วงนานขึ้น ซึ่งกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพของเกษตรกรมาก บริษัทฯ ได้เน้นย้ำให้ทุกฟาร์มเลี้ยงสุกรของบริษัทฯ ร่วมช่วยแบ่งปันน้ำที่บำบัดแล้วให้แก่เกษตรกรที่อาศัยอยู่รอบฟาร์มนำใช้รดน้ำต้นไม้ในไร่และสวนของตนเอง
"วิกฤติแล้งในปีนี้รุนแรงมาก ฟาร์มสุกรของบริษัทฯ กว่า 80 แห่งทั่วประเทศนอกจากจะให้ความสำคัญกับการใช้น้ำอย่างประหยัดแล้ว ก็ยังช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ปลูกผลไม้ ปลูกไผ่ตง และผลไม้ที่อยู่รอบๆ ฟาร์ม ด้วยการปันน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วของฟาร์ม มีคุณภาพได้มาตรฐานตามมาตรฐาน เพื่อช่วยบรรเทาความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตรในช่วงที่เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน" นายสมพรกล่าว
นายสมพรกล่าวต่อว่า โดยปกติระบบน้ำของฟาร์มเลี้ยงหมูของซีพีเอฟจะไม่ปล่อยน้ำที่บำบัดแล้วออกมาภายนอก แต่ในช่วงฤดูแล้ง ฟาร์มจะแบ่งปันน้ำที่ฟาร์มบำบัดแล้ว ให้กับเกษตรกรเพาะปลูกที่อยู่รอบฟาร์มมาร่วม 10 ปีแล้ว เพื่อช่วยบรรเทาความเสียหาย และน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วยังอุดมด้วยธาตุอาหารสำคัญสำหรับพืช จึงเป็นที่ต้องการของเกษตรกรสวนผลไม้ ไร่อ้อย ปาล์มน้ำมัน เพราะได้ทั้งน้ำ และปุ๋ยบำรุงพืชไปพร้อมกัน
นายสนุน มะนาวหวาน หนึ่งในเกษตรกรที่นำ "น้ำปุ๋ย" จากฟาร์มซีพีเอฟ มาใช้ในไร่อ้อยกว่า 62 ไร่ ที่บ้านไร่ จ.กำแพงเพชร เล่าให้ฟังว่า ไร่อ้อยของตนไม่ต้องประสบกับภาวะขาดน้ำในช่วงแล้ง เพราะขอแบ่งน้ำที่ผ่านการบำบัดจากฟาร์มมาใช้เดือนละประมาณ 10,000-12,000 ลูกบาศก์เมตร และน้ำดังกล่าวยังอุดมด้วยธาตุอาหารสำคัญสำหรับพืช ช่วยให้ต้นอ้อยเขียวงามดี ผลผลิตอ้อยมีน้ำหนักดี ช่วยให้ตนได้ราคาดี และช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยร่วม 2 แสนบาทอีกด้วย
สอดคล้องกับนายโชติ ไหมทอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ต.สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เป็นหนึ่งในกลุ่มเกษตรกรทำสวนผลไม้รวม 35 คนที่เข้าร่วมโครงการขอปัน "น้ำปุ๋ย" จากฟาร์มสุกรจันทบุรี 2 กล่าวว่า น้ำปุ๋ยมีข้อดีที่ช่วยปรับสภาพดินทำให้ดินร่วนซุย มีสภาพดีขึ้น ช่วยลดการใช้ปุ๋ยได้ถึง 40% ผลผลิตมีคุณภาพดี รสชาติอร่อยขึ้น และที่สำคัญกลุ่มเกษตรกรที่อยู่รอบฟาร์มจันทบุรี 2 ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมาหลายปีแล้ว
ขณะที่ นายสิริพงศ์ อรุณรัตนา รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นสมาชิกของชุมชน โรงงานของบริษัทที่ตั้งอยู่ในจังหวัดต่างๆ จึงให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการใช้น้ำอย่างประหยัด ลดใช้น้ำกับกิจกรรมไม่จำเป็น และยังช่วยแบ่งปันน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัด ให้กับเกษตรกรที่ต้องการใช้สำหรับการเพาะปลูกในช่วงนี้อีกด้วย
"โรงงานแปรรูปเนื้อไก่นครราชสีมาและโรงงานแปรรูปเนื้อไก่สระบุรี ได้ติดตั้งปั้มสูบน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงงานไปใช้ในแปลงพืชผักของตนเอง บรรเทาความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ และสามารถประกอบอาชีพได้อย่างต่อเนื่อง" นายสิริพงศ์กล่าว
การแบ่งปันน้ำให้เกษตรกรจากฟาร์มสุกร และโรงงานแปรรูปอาหารของซีพีเอฟในช่วงนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยคลี่คลายปัญหาน้ำในภาวะที่ฝนทิ้งช่วงยาวนานกว่าปกติ ได้เป็นอย่างดี./