ดร. อัญญา ขันธวิทย์ ศาตราจารย์ในสาขาวิชาการเงินและการธนาคาร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอผลงานวิจัยเรื่อง "การกำหนดอัตราการออมตามวินัยส่วนตนสำหรับผู้มีรายได้ชาวไทยภายใต้กรอบการบริหารความเสี่ยง" ซึ่งเป็นบทวิจัยแรกของประเทศที่สามารถระบุได้ว่า หากหญิงไทยเริ่มออมตั้งแต่อายุ 20 ปี อัตราการออมควรอยู่ที่ประมาณ 12% ของรายได้ ส่วนชายไทยอัตราการออมควรอยู่ที่ประมาณ 8% ของรายได้ และเป็นที่น่ายินดีว่า แม้บางคนอาจเริ่มออมช้าและมีหนี้สินอยู่บ้าง แต่หากเริ่มออมและออมอย่างมีวินัยเคร่งครัดแล้ว ก็จะสามารถปลดหนี้ และอาจมีมรดกให้ลูกหลานสูงถึงกว่า 1 ล้านบาท ทั้งนี้ เป็นการอ้างอิงตามทฤษฎีการบริหารความเสี่ยงและใช้ข้อมูลจริงสนับสนุน
รศ.ดร. พรอนงค์ บุษราตระกูล นักวิชาการประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน ก.ล.ต. นำเสนอผลงานวิจัย "ประสิทธิผลของการให้ความรู้ต่อการตัดสินใจเลือกแผนการลงทุนสำหรับการเกษียณอายุ" พบว่า การส่งเสริมให้บุคคลมีความรู้ทางการเงิน (financial literacy) ที่เกี่ยวข้อง ส่งผลต่อความสามารถในการตัดสินใจทางการเงินที่สอดคล้องกับเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ควรให้ความสำคัญกับกลุ่มที่ยังมีช่องว่างเรื่องความรู้ทางการเงินที่เกี่ยวข้องสูงเป็นเป้าหมายแรก และเรื่องการออมเพื่อการเกษียณอายุควรเน้นกลุ่มที่มีระดับการศึกษาและรายได้ต่ำ จากการศึกษายังพบว่าประสิทธิผลของการส่งเสริม financial literacy ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ปัจจัยส่วนบุคคลของผู้รับการส่งเสริม แต่ขึ้นกับรูปแบบและวิธีการของการให้ความรู้ รวมทั้งควรให้ความสำคัญกับการกำหนดตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับนโยบาย แม้ว่าผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจทางการเงินเฉพาะทาง ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการยอมรับและนำไปสู่การตัดสินใจ ทั้งนี้ สามารถเพิ่มประสิทธิผลของ financial literacy ได้ โดยคำนึงถึงขั้นตอนในการตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้น
นายกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์อาวุโส จาก บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด นำเสนอผลงานวิจัย "องค์ประกอบของการวางแผนทางการเงินที่ดี" โดยระบุว่า นักลงทุนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการเลือกหาการลงทุนที่ดี และการจัดสรรพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสม เพื่อสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนสำหรับการใช้ในยามเกษียณ ซึ่งพบว่า การตัดสินใจวางแผนการเงินอย่างชาญฉลาด จะสามารถเพิ่มรายได้หลังเกษียณได้ถึง 22.6% หรือเทียบเท่ากับ 1.5% alpha** [i] ต่อปี โดยมีปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องในด้านต่าง ๆ อาทิ อัตราการถอนเงินไปใช้ที่เหมาะสม และการจัดการทางด้านภาษี