นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.10) เปิดเผยว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตในเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม เป็นเดือนที่เด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงหน้าร้อนและปิดเทอม เฉพาะช่วง 3 เดือนนี้ ในปี 2558 มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 400 คน สถานที่เกิดเหตุที่พบบ่อย คือ แหล่งน้ำธรรมชาติ หนองน้ำ คลองชลประทาน อ่างเก็บน้ำ พบเพศชายมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าเพศหญิงประมาณ 2 เท่าตัว และเด็กอายุ 5-9 ปี มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าในทุกกลุ่มอายุ
นพ.ศรายุธ กล่าวต่อไปว่า ข้อมูลการเฝ้าระวังของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค พบว่า เด็กโตมักจะจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกันครั้งละหลายๆ คน เนื่องจากเด็กไม่รู้วิธีการเอาตัวรอดในน้ำและวิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง จึงมักกระโดดลงไปช่วยคนที่ตกน้ำ ดังนั้นมาตรการป้องกัน คือ สอนให้เด็กรู้วิธีการเอาชีวิตรอดในน้ำเมื่อตกน้ำ โดยการลอยตัวเปล่า หรือลอยตัวโดยใช้อุปกรณ์ช่วย สอนให้ประชาชนและเด็กรู้จักความปลอดภัยทางน้ำ ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง ไม่เดิน /ไม่เล่นใกล้แหล่งน้ำ และใช้ชูชีพทุกครั้งที่เดินทางทางน้ำ รวมทั้งสอนให้เด็กรู้จักวิธีช่วยเหลือที่ถูกต้อง โดยการตะโกนให้ผู้ใหญ่มาช่วย หรือถ้าไม่มีใครให้ใช้อุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ เช่น ขวดน้ำพลาสติก ถังแกลลอน ห่วงชูชีพ ไม้ยาวๆหรือเชือกโยนให้ผู้ตกน้ำ เกาะลอยตัวเข้าหาฝั่ง
ขอแนะนำว่า หากเกิดเหตุจมน้ำให้รีบโทรศัพท์แจ้งที่หมายเลข 1669 หรือหน่วยพยาบาลใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด และเริ่มการปฐมพยาบาลโดยจับคนจมน้ำนอนบนพื้นราบแห้งและแข็ง ตรวจดูว่ารู้สึกตัวหรือไม่โดยใช้มือ 2 ข้างจับไหล่ เขย่าพร้อมเรียกดังๆ กรณีไม่รู้สึกตัว ให้กดหน้าผาก เชยคาง เป่าปากช้าๆสม่ำเสมอ และกดนวดหัวใจโดยประสานมือวางส้นมือขนานกับแนวกึ่งกลางหน้าอก แขนตั้งฉาก กดหน้าอกความเร็ว 100 ครั้งต่อนาที เป่าปาก 2 ครั้ง สลับกับการนวดหัวใจ 30 ครั้ง จนกว่าจะรู้สึกตัว จากนั้นจับผู้ประสบเหตุนอนตะแคง ศีรษะหงายไปด้านหลังเพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก เมื่อหายใจได้แล้ว ให้ห่มคลุมผู้ป่วยเพื่อให้ความอบอุ่น และนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอุบัติเหตุจมน้ำ หรือการปฐมพยาบาลคนจมน้ำเบื้องต้นสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422. /นพ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย