นายศักดิ์ชัย กล่าวต่อไปว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำคู่มือการดำเนินการเกษตรกรรมแปลงใหญ่เพื่อให้ทุกแปลงใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานและได้เผยแพร่ไปให้ผู้จัดการแปลงแล้ว โดยแปลงใหญ่ที่ดำเนินการใน 76 จังหวัด มีจำนวนทั้งสิ้น 268 แปลง พื้นที่รวม 662,669 ไร่ มีเกษตรกรในโครงการ 29,169 ครัวเรือน เป็นแปลงที่เริ่มดำเนินการในปี 2559 จำนวน 31 แปลง โดยแปลงใหญ่ทั้งหมดมีสินค้า 31 สินค้า แบ่งเป็น ข้าว 142 แปลง พืชไร่ 38 แปลง ปาล์มน้ำมัน/ยางพารา 15 แปลง ไม้ผล 37 แปลง ปศุสัตว์ 12 แปลง ประมง 9 แปลง ที่เหลือเป็นพืชผัก สมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับและหม่อนไหม มีการคัดเลือกเป็นแปลงใหญ่ต้นแบบ จังหวัดละ 1 แปลง รวม 76 แปลง จึงเหลือแปลงที่ไม่ได้คัดเลือกเข้ามาเป็นแปลงใหญ่ต้นแบบอยู่ 192 แปลง สำหรับสภาพความพร้อมของแปลงต้นแบบในขณะนี้ แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ A มีแผนและได้ดำเนินการตามแผนแล้ว มีจำนวนร้อยละ 53 ระดับ B มีแผนแล้วแต่ยังขาดการปฏิบัติ ร้อยละ 39 และระดับ C มีการเตรียมการด้านการจัดการกลุ่ม ทีมบริหารจัดการ และทำข้อมูลรายแปลงมาแล้ว ร้อยละ 8 สำหรับแผนการดำเนินการในช่วงเดือน มี.ค. – ก.ค. 59 จะเน้นการดำเนินการไปที่ 76 แปลงต้นแบบ ให้มีความพร้อมในระดับ B เป็นอย่างน้อย โดยมีเป้าหมายและแผนปฏิบัติงานให้พร้อมภายในเดือน เม.ย. และให้แปลงต้นแบบสามารถปฏิบัติตามแผนได้ภายในเดือน พ.ค. 59 ซึ่งคาดว่าจะสามารถ Kick off แปลงใหญ่ประชารัฐต้นแบบ 76 แปลง 76 จังหวัด ได้ในช่วงปลายเดือน พ.ค. นี้
ขณะที่ความคืบหน้าการดำเนินงานด้านการลดต้นทุนปัจจัยการผลิตนั้น ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน อาทิ กรมการค้าภายใน ให้ความร่วมมือในการควบคุมราคาปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร และกระทรวงมหาดไทย ดูแลเรื่องการลดราคาค่าเช่าที่ดินทำการเกษตรที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ และกรมการข้าวและกรมปศุสัตว์ ดูแลเกี่ยวกับค่าพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ เป็นต้น ทั้งนี้ คณะทำงานลดต้นทุนฯ ได้นำเสนอโครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตของกรมส่งเสริมการเกษตร โดยใช้เทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งสามารถช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีได้เฉลี่ยร้อยละ 26.7 และเพิ่มผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 9.48 และส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกในภาคการเกษตร และสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ อาทิ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน โดยเน้นเป็นพิเศษสำหรับระบบการเกษตรแปลงใหญ่
สำหรับการส่งเสริมเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยนั้น กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการวิเคราะห์และปรับปรุงดินในพื้นที่การเกษตร และส่งเสริมการใช้ปุ๋ยชีวภาพในพื้นที่ที่มีความพร้อม ตลอดทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่ดีให้แก่เกษตรกร และส่งเสริมการผลิตเข้าสู่มาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค รวมทั้งสร้างโอกาสทางการตลาดให้มากขึ้นโดยมีผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง