ในวันงานกำหนดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 5-27 มีนาคม 2559 ณ ตลาดคลองผดุงกรุงเกษมข้างทำเนียบรัฐบาล สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จะได้นำผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์พร้อมขาย มาจัดแสดงกว่า 100 ผลงานมาให้ทุกคนได้ชม ชิม ช้อป กันให้กระจายในราคาย่อมเยา ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการใช้พื้นที่บริเวณ คลองผดุงกรุงเกษมเปิดเป็นพื้นที่ค้าขาย สำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย โดยเน้นส่งเสริมสินค้าและผลิตภัณฑ์และบริการของขายในด้านต่างๆ
นางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ตามที่ วช.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลนำผลงานวิจัยที่พร้อมขาย มาจัดจำหน่ายในราคาพิเศษที่ตลาดนัดชุมชน บริเวณริมคลองผดุงเกษมข้างทำเนียบรัฐบาล โดยมีกิจกรรมพิเศษนอกเหนือจากงานขายมาสร้างสีสันและสร้างประโยชน์กับผู้ชมงานตลอดระยะเวลาการจัดงาน โดยในครั้งนี้ทาง วช. ได้นำผลงานอันเกิดจากความคิดมันสมองและสองมือของนักวิจัยไทยมาอวดโฉมมากกว่า 100 ผลงาน เช่น ครีมบำรุงผิวจากสารสกัดทานาคาผสมไวตามินอี นวัตกรรมน้ำมันหอมระเหยจากข้าวตอก ผ้าทอพื้นบ้านจากเส้นด้ายใยลูกตาล การผลิตส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสารสกัดส้มแขกและชาเขียวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง น้ำข้าวกล้องงอก ผลิตภัณฑ์จากข้าวซ้อมมือ ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้การวิจัยเพื่อสร้างความรู้และอาชีพ เช่น การทำกระเป๋าจากเนคไท น้ำปรุงใบข้าวหอม ไหมไทย สบู่ข้าวหมกไหมไทย แป้งร่ำผัดหน้าข้าวหอมไหมไทย การทำข้าวปั้นญี่ปุ่นอาหารเช้า:ผลิตภัณฑ์ข้าวตังหน้าตั้ง เป็นต้น
โดยไฮไลท์ที่ถือเป็นสุดยอดของงานในครั้งนี้ที่พลาดชมไม่ได้คือ "ผลิตภัณฑ์กระเป๋าหญ้าแฝก" ซึ่งได้รับการขนานนามจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้เป็น ผลิตภัณฑ์แฮนด์เมด "กระเป๋าใบเดียวในโลก"ที่เมื่อสานและขึ้นรูปกระเป๋าแล้วมีความงดงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ลวดลายที่ปรากฏไม่ซ้ำกันเลยสักใบ ผู้ช่วยศาสตราจารย์รจนา จันทราสา สาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในฐานะเป็นผู้คิดค้นและออกแบบกระเป๋าหญ้าแฝก กล่าวถึงแรงบันดาลใจว่า
เกิดจากการน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริในการในนำหญ้าแฝกมาแก้ปัญหาเรื่องการชะล้างพังทลายของหน้าดิน และในแต่ละปีประเทศไทยจะมีหญ้าแฝกที่ถูกตัดยอดหญ้าทิ้งเป็นจำนวนมาก จึงเกิดปิ๊งไอเดียเด็ดนำใบหญ้าแฝกที่ถูกตัดจากบริเวณยอดที่สูงเกินขนาดมาทำเป็นกระเป๋าสุดเริ่ดไม่เหมือนใคร
"ตามธรรมดาของหญ้าแฝกนั้นทุก 6 เดือนจะต้องมีการตัดยอดหญ้าที่สูงเกินมาตรฐานออก ซึ่งบางครั้งชาวบ้านก็จะนำไปมุงหลังคาบ้าง แต่ด้วยความที่มีเหลือเป็นจำนวนมากเราจึงคิดอยากจะเพิ่มมูลค่าให้สินค้า และเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านในท้องถิ่น ฉะนั้น เราจึงเข้าไปร่วมมือกับกลุ่มแม่บ้านแกใหม่ กลุ่มแม่บ้านก๊อกซาว และกลุ่มแม่บ้านดอนชัย จ.พะเยา ที่มีผีมือในการประดิษฐ์เครื่องหัตกรรมอยู่แล้ว"
สำหรับกระเป๋าหญ้าแฝกนั้น เป็นการนำหญ้าแฝก ฝ้าย และเส้นไหม มาผลิตรวมกัน โดยใช้หญ้าแฝกเป็นวัตถุดิบในการสานกระเป๋า และใช้ฝ้ายมาย้อมสีธรรมชาติเพื่อสร้างสีสันให้กระเป๋ามีความสวยงาม แถมเพิ่มความโดดเด่นให้กระเป๋าด้วยการนำไหมซึ่งมีคุณสมบัติมันวาวอยู่แล้ว มาร้อยประดับในกระเป๋าสร้างความโดดเด้งไม่เหมือนใครด้วยวิธีธรรมชาติ และด้วยความที่ จ.พะเยามีหนังที่ขึ้นชื่ออยู่แล้ว ทางทีมนักวิจัยและผู้ออกแบบจึงใช้หนังมาเพิ่มเป็นเลเยอร์ของกระเป๋าอันเป็นการสร้างมูลค่าให้สินค้าอีกรูปแบบหนึ่ง
โดยกระเป๋าหญ้าแฝกนั้นได้รับการออกแบบมาหลากหลายสไตล์ด้วยกัน อาทิ กระเป๋าสะพายผู้หญิงดีไซน์เรียบหรูนำสมัย กระเป๋ารูปทรงต่างๆขนาดกระทัดรัด รวมถึงกระเป๋าคลัทช์ดีไซน์เก๋ไม่แพ้ใคร นอกจากนี้ยังมีหมอนอิงที่ทำจากหญ้าแฝกอีกด้วย
ขณะที่ รองศาสตราจารย์วรภัทร ลัคนทินวงศ์ อาจารย์ภาคประจำวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำผลงาน ชมพู่ทับทิมจันทร์ ผลไม้ลือชื่อ จ.ราชบุรี มานำเสนอ ซึ่งชมพู่ทับทิมจันทร์ในขณะนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในต่างประเทศ ในแต่ละปีส่งขายออกยังตลาดต่างประเทศเป็นจำนวนมาก สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างเป็นกอบเป็นกำ
แต่ด้วยในภาวะปัจจุบันสภาพแวดล้อมมีความเปลี่ยนไป สภาพดินฟ้าอากาศมีความแปรปรวนจึงทำให้ผลชมพู่ชนิดนี้ไม่มีความสวยงามสีของผลขาวซีดไม่ชวนรับประทาน ขนาดผลไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน GAP ทำให้เกษตรกรไม่สามารถปลูกได้ทันสำหรับการส่งออกและจำหน่ายในประเทศ ดังนั้นจึงคิดค้นแผ่นฟลอยด์ ชนิดหนึ่งขึ้นมาที่มีประสิทธิภาพในการห่อคลุมผลชมพู่ให้มีสีแดงสวยเสมอกัน และข้างในเนื้อชมพู่ก็มีสีแดงน่ารับประทาน แถมแผ่นฟลอยด์ที่คลุมอยู่นั้นยังทำให้ชมพู่มีผลที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากไม่ได้รับการรบกวนจากศัตรูพืช ทำให้ผลผลิตมีความสมบูรณ์เกษตรกรได้ราคาดีขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์วรภัทร ลัคนทินวงศ์ ยังคิดค้นวิธีการดับกลิ่นทุเรียนเพื่อการส่งออกด้วย โดย นักวิจัยได้นำเปลือกทุเรียนมาสกัดไม่ให้ผลทุเรียนมีกลิ่นเหม็น และทำให้ทุเรียนสามารถมีอายุในการขนส่งทางเรือได้นานถึง 15 วันโดยไม่เน่าเสีย นอกจากนี้ยังมีไอเดียเด็ด ที่ออกแบบมาให้มีตัวชี้วัด[Indicator] ที่บริเวณกล่องไว้ว่าทุเรียนเสียหรือไม่เสียไว้บริเวณบนกล่องด้วย เพื่อป้องกันปัญหาการกดจิ้มทุเรียนให้เกิดความเสียหาย ซึ่งถ้าทุเรียนเสียแล้วบนฝากล่องบริเวณตัวชี้วัดจะขึ้นเป็นสีส้ม แต่ถ้ายังไม่เสียจะมีสีเขียวเข้มแสดงโชว์อยู่บริเวณเหนือกล่องอีกเช่นเดียวกัน
ขณะที่ INNOVATION HOUSE โดย พิมพ์ภิดา วิชญพิมพ์จุฬา ได้ขน ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจากน้ำดอกไม้มานำเสนอ โดยนำดอกไม้ไทยอาทิ ดอกเข็ม ดอกบัว ดอกกุหลาบ ดอกอัญชัญ ฯลฯ มาสกัดเป็นเครื่องดื่มรูปแบบต่างๆ ซึ่งสรรพคุณของดอกไม้ไทยเหล่านี้ล้วนมีคุณสมบัติในการต่อต้านริ้วรอยแห่งวัย ชะลอความสวยให้คงทน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าให้แก่เกษตรกรอีกด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสินค้าอันเกิดจากความคิดและมันสมองของนักวิจัยไทยที่ทุ่มกำลังอย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาประเทศให้เกิดความยั่งยืน น่าชื่นใจที่ ในวันนี้ งานวิจัยได้ โยกจากความสง่างามและทรงภูมิจากบนหิ้ง โน้มลงมาสู่ห้าง สู่ตลาด ถึงมือผู้บริโภคอย่างแท้จริง
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งจาก 100 ผลงานที่พร้อมขาย ที่เหล่านักวิจัยพร้อมนำมาจัดแสดงและจำหน่ายในราคาพิเศษ ณ ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล ในงาน ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม "เพลินพลังงาน งานวิจัยขายได้" ระหว่างวันที่ 5-27 มีนาคม ศกนี้ วันจันทร์-ศุกร์ เช้าชมได้ตั้งแต่ เวลา 10.00-19.00 น. และในวันเสาร์—อาทิตย์ ขยายเวลาช้อป ถึง 20.00 น.