ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะกรรมการจัดงาน 100 ปีชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย โทรศัพท์ 02-613-2045, 02-613-3030 เว็บไซต์www.puey.tu.ac.th และ www.facebook.com/Puey100
ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่คู่สังคมไทยมากว่า 82 ปี ที่มาผ่านได้ผลิตบุคลากรที่สร้างคุณูปการให้กับประเทศไทยจำนวนมาก โดยในปี พ.ศ. 2559 นี้"ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์" หรือ "อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์" อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกเป็น "บุคคลสำคัญของโลก" ด้านการศึกษาและเศรษฐศาสตร์ โดยตลอดช่วงชีวิตของ อ.ป๋วย ได้สร้างคุณงามความดีและคุณูปการแก่ประเทศชาติเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา โดยผลงานสำคัญที่จารึกในประวัติศาสตร์มีอาทิ การอุทิศตนร่วมเป็นหนึ่งในขบวนการเสรีไทย ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 การเป็นผู้จัดวางระบบงบประมาณแผ่นดินให้มีเสถียรภาพ เมื่อครั้งรับราชการที่กระทรวงการคลัง การอุทิศตนลงมือพัฒนาชนบทเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยอย่างจริงจัง อันเป็นปัญหาที่ อ.ป๋วย เล็งเห็นเมื่อ 40 กว่าปีที่ผ่านมา ที่สำคัญที่สุดคือ อ.ป๋วย ดำรงไว้ซึ่งความซื่อสัตย์สุจริต ความเป็นผู้มีธรรมาภิบาลและยึดถือจริยธรรมในการทำงานตลอดชีวิตการรับราชการ จนได้รับรางวัลแม็กไซไซเมื่อปี 2508 ฯลฯ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการร่วมรำลึกและเชิดชูเกียรติ อ.ป๋วย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงร่วมกับ ภาคีเครือข่าย จัดงาน "100 ปีชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์" เพื่อเผยแพร่แนวคิด ปณิธานและอุดมการณ์ของ อ.ป๋วยตลอดจนเป็นการเฉลิมฉลองอย่างเป็นทางการในโอกาสได้รับการประกาศชื่อให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกโดยยูเนสโก รวมทั้งเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล ซึ่งภายในงานดังกล่าว ประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ พิธีเปิดอนุสาวรีย์อาจารย์ป๋วย บริเวณคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.ท่าพระจันทร์ การประกาศรางวัลยูเนสโกอย่างเป็นทางการ โดย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ การเสวนาและการปาฐกถารำลึกถึงอาจารย์ป๋วย ในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ "อาจารย์ป๋วยที่ข้าพเจ้ารู้จัก" "จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน:หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผลสัมฤทธิ์และความท้าทายในอนาคต" และ "ป๋วยกับสังคมเศรษฐกิจไทยในวิกฤตเปลี่ยนผ่าน" โดยบุคคลใกล้ชิดและลูกศิษย์ของ อ.ป๋วย อาทิ ดร.อรัญ ธรรมโน อดีตปลัดกระทรวงการคลังดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นพ.โรจน์ ตั้งเจริญเสถียร เลขาธิการมูลนิธิสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ฯลฯ
นอกจากนี้ ในหลายภาคส่วนยังมีการจัดกิจกรรมเพื่อเชิดชูเกียรติ อ.ป๋วย อย่างต่อเนื่องอาทิ การจัดสร้าง"อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี" แหล่งเรียนรู้สาธารณะสำหรับประชาคมธรรมศาสตร์ และประชาชนทั่วไป ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต การสร้าง"สวนศิลป์อาจารย์ป๋วย" แหล่งเรียนรู้สาธารณะและสวนศิลป์ สำหรับชุมชนตลาดน้อย โดยกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง การจัดนิทรรศการ "จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 44 โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กิจกรรม"PUEY TALKS" การเดี่ยวไมโครโฟนเรื่องราวแรงบันดาลใจจาก อ.ป๋วย โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กิจกรรม "TU Walk & Run 2016" การแข่งขันเดินวิ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ครั้งที่ 1 และ การจัดทำ"สารคดีเรื่องอาจารย์ป๋วย" โดยสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เป็นต้น
ทั้ งนี้ สำหรับรางวัลบุคคลสำคัญของโลก โดยยูเนสโกจะแบ่งประเภทรางวัลออกเป็น 5 สาขา อันได้แก่ 1. การศึกษา 2. วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ 3. สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 4. วัฒนธรรม และ 5. การสื่อสารและข้อมูลข่าวสาร ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทย ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกแล้วทั้งสิ้น 26 คน นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 เป็นต้นมา โดยเป็นบุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 3 ท่าน คือ "ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์" ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการยกย่องในด้านส่งเสริมสันติภาพ เสรีภาพและประชาธิปไตย
"พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์" อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการยกย่องในด้านวัฒนธรรม และ "นายกุหลาบ สายประดิษฐ์" หรือ "ศรีบูรพา" เจ้าของวาทะ "ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน" ได้รับการยกย่องในด้านนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ และล่าสุดกับ ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ทั้งนี้ นับเป็นความภาคภูมิใจยิ่งของคนธรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่มีบุคลากรและศิษย์เก่าคนสำคัญได้รับรางวัลยูเนสโกมากที่สุดในประเทศศาสตราจารย์ ดร.สมคิด กล่าวสรุป
"มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งมั่นสู่การเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสังคมไทยปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ต่อบุคลากรและนักศึกษา ด้วยการยึดมั่นในความเป็นธรรม การมีจิตสาธารณะ และการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ให้มีคุณสมบัติผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21 สอดรับตามแนวคิด "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์...มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง"
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานฉลอง "100 ปีชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์" ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีบุคคลใกล้ชิดและลูกศิษย์อาจารย์ป๋วยเข้าร่วมจำนวนมาก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะกรรมการจัดงาน 100 ปีชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย โทรศัพท์ 02-613-2045, 02-613-3030
เว็บไซต์ www.puey.tu.ac.th และ www.facebook.com/Puey100 (สู่ 100 ปีชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์)