นายเชาว์ ทรงอาวุธ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามวงจรธรรมชาติ ฤดูที่ยางผลัดใบจะเป็นช่วงหน้าร้อนของแต่ละพื้นที่ ซึ่งขณะนี้เดือนมีนาคมทุกพื้นที่เข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง และเป็นช่วงที่ยางผลัดใบ โดยใบยางจะมีสีเหลือง และร่วงหล่นจากต้น เป็นสัญญาณเตือนให้เจ้าของสวนยางควรหยุดกรีดยางในช่วงนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่ยางผลัดใบ ทิ้งใบ ต้นยางจะไม่มีใบสีเขียวเพื่อการสังเคราะห์แสง ทำให้ต้นยางต้องเคลื่อนย้ายอาหารที่เป็นแป้งและน้ำตาลจากใบแก่ไปเก็บไว้ที่บริเวณลำต้น และเมื่อยางเริ่มแตกใบอ่อน อาหารที่ถูกเก็บไว้ที่ลำต้นจะถูกนำไปใช้สร้างใบอ่อนของต้นยาง ในช่วงนี้ ถ้าเกษตรกรยังฝืนกรีดยาง ก็จะเป็นเหมือนการแย่งอาหารต้นยาง ส่งผลให้ยางเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้ต้นยางไม่สมบูรณ์ ส่งผลกระทบต่ออายุการกรีดที่ไม่ยาวนานของต้นยางในอนาคต
นอกจากนี้ การฝืนกรีดยางในช่วงผลัดใบหรือแตกใบอ่อน ซึ่งเป็นช่วงที่ต้นยางไม่สามารถสังเคราะห์แสงสร้างอาหารได้เต็มที่ ส่งผลให้ต้นยางไม่สมบูรณ์และทรมานต้นยาง อาจทำให้ต้นยางเกิดอาการเปลือกแห้ง หรือกรีดแล้วไม่มีน้ำยาง ในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า ดังนั้น เกษตรกรชาวสวนยางควรหยุดกรีดยางในช่วงนี้ เพื่อเป็นการพักต้นยางพารา ให้สามารถสะสมอาหารไปหล่อเลี้ยงใบอ่อนเพื่อสร้างความเจริญเติบโต และใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยาง ซึ่งชาวสวนยางสามารถเริ่มกรีดได้อีกครั้ง ในช่วงที่ใบยางที่แตกใหม่เจริญเต็มที่และเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม
"อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ยางผลัดใบ เกษตรกรไม่สามารถกรีดยางได้ ควรเลือกทำอาชีพเสริมอื่นๆ โดยใช้เนื้อที่ว่างที่มีอยู่ในสวนยาง หรือเวลาว่างช่วงพักกรีด ประกอบอาชีพเสริมต่างๆ ตามถนัด เพื่อสร้างรายได้เสริม อาทิ ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย อาทิ มะละกอ ฟักทอง พืชตระกูลถั่วต่างๆ หรือเลี้ยงสัตว์ที่สามารถเลี้ยงร่วมสวนยางได้ เช่น จิ้งหรีด ผึ้ง เป็นต้น การปลูกผลไม้ที่ให้ผลผลิตเร็วต่างๆ เพื่อการบริโภคในครัวเรือน สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ และเป็นการสร้างรายได้ ขณะหยุดพักกรีดยางได้อีกทางหนึ่ง พี่น้องชาวสวนยางสามารถขอคำแนะนำ รวมถึงข้อมูลต่างๆ ที่สนใจได้ที่การยางแห่งประเทศไทย ทุกพื้นที่ใกล้บ้าน"