พลเอกสุรศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาไฟป่าและหมอกควันยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สุขภาพประชาชน และส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคมของทุกปี ซึ่งสาเหตุหลักมาจากมนุษย์ที่เผาวัชพืชเพื่อเตรียมพื้นที่ทำการเกษตร หาของป่าจนไฟลุกลาม และทำความเสียหายต่อทรัพยากรป่าไม้จำนวนมาก ทำให้ภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการระดมเจ้าหน้าที่ เครื่องมือเครื่องใช้ และยานพาหนะเพื่อเข้าดำเนินการระงับไฟป่าที่เกิดขึ้น
พลเอกสุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายจากการเกิดไฟป่า รัฐบาลได้ดำเนินการแบบบูรณาการร่วมกับกองทัพอากาศ กองทัพภาคที่ 3 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักการบินอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมฝนหลวงและการบินเกษตร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า โดยระดับโครงสร้างการบริหารและสั่งการยังคงมีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับชาติ โดยมีตนจะเป็นผู้สั่งการ ส่วนระดับภูมิภาคมีแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นผู้สั่งการ และระดับจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นคนสั่งการ โดยให้ทุกภาคส่วนปฏิบัติตามแบบแผนที่วางไว้ในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ได้นำมาตรการทางกฎหมายมาบังคับใช้กับผู้กระทำความผิด ซึ่งปีที่ผ่านได้ใช้กฎหมายจับกุมผู้กระทำผิด 87 ราย ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมจึงมีการจำลองสถานการณ์ในการควบคุมไฟป่า เป็นแผนระดมพลดับไฟป่าแบ่งเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วยสถานการณ์ปกติ สถานการณ์รุนแรง และสถานการณ์วิกฤต เพื่อเตรียมความพร้อมหากเกิดสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ให้สามารถควบคุมไฟป่าที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาทรัพยากรสำคัญของชาติ ทั้งป่าไม้ ต้นน้ำลำธารให้คงอยู่ฟื้นฟูให้มีความอุดมสมบูรณ์ สร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติอย่างยั่งยืน
ด้านนายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่เกิดขึ้น หน่วยงานภาครัฐได้แก้ไขปัญหาตามหลักการวิธีแบบประชารัฐ เน้นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน โดยกรมป่าไม้จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ พร้อมทั้งฝึกอบรมให้แก่อาสาสมัครป้องกันและควบคุมไฟป่าในพื้นที่ ฝึกอบรมให้แก่นักเรียน นักศึกษา เพื่อให้ได้รับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับไฟป่าและการป้องกันไฟป่าเบื้องต้น และจะมีการอบรมให้ความรู้แก่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพราะหากขาดความร่วมมือจากชุมชนจะทำให้ปัญหาการบุกรุกทำลายป่ารุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้หากพบเห็นการเกิดเหตุไฟป่า สามารถโทรแจ้งที่สายด่วน 1362 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง