ในช่วงแรก ผู้นำชุมชนแสดงความกังวลใจเนื่องจากได้รับข้อมูลเดิมว่า จะเป็นถนนขนาดใหญ่และสูงจนบดบังอาคารบ้านเรือนริมน้ำ หวั่นความปลอดภัยจากอาชญากรรม ซึ่ง รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดการโครงการฯ และคณะทำงานได้ชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่ถูกต้อง แท้จริงแล้วโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา คำนึงถึงทัศนียภาพที่สวยงามและสะท้อนอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันของวิถีวัฒนธรรม โดยหลักการแนวคิดเป็นทางเดิน-ปั่นเลียบแม่น้ำ เชื่อมต่อพื้นที่สีเขียว นันทนาการ วัฒนธรรม และระบบขนส่งสาธารณะรถ เรือ ราง โครงการไม่ใช่ถนนให้รถวิ่งแต่อย่างใด ส่วนพื้นผิวทางเดิน-ปั่นจะต่ำกว่าสันเขื่อนกันน้ำเดิมของกทม. จึงไม่บดบังทัศนียภาพ ในด้านความปลอดภัยทางโครงการจะออกแบบให้มีความปลอดภัยของชุมชนริมน้ำด้วย
โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนทุกคนทุกระดับได้เข้าถึงแม่น้ำอย่างเท่าเทียมกันนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร จัดทำแผนแม่บทพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางสองฝั่ง รวม 57 กม. จากสะพานพระราม 7 ถึงสุดเขตกรุงเทพมหานคร โดยมีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่ปรึกษาการสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และโครงการนำร่อง ระยะทางสองฝั่ง รวม 14 กิโลเมตร จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดยทำการศึกษา สำรวจและออกแบบรายละเอียด ระยะเวลาดำเนินการ 7 เดือน เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการฟื้นฟูพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่อื่นๆต่อไปในอนาคต