นายสามชัย เบญจปฐมรงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอร่า แฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AFธุรกิจแฟคตอริ่งเป็นผู้ให้บริการเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นประเภทแฟคตอริ่งแก่ผู้ประกอบการ เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าภายใน 3 ปี (ปี59-61) จะมีมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นเป็น 15% หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีวอลุ่มอยู่ที่ระดับ 20,000 ล้านบาท โดยบริษัทได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินการใหม่ อาทิ การขยายฐานลูกค้าใหม่ไปยังผู้ประกอบการ SME กลุ่มบริษัทที่เป็นซัพพลายเออร์ในธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง หรือแม้แต่กลุ่มโทรคมนาคมที่อยู่ระหว่างการขยายโครงข่าย 3G – 4G ในขณะนี้เป็นต้น
อีกทั้งภาครัฐยังมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SME เข้าสู่ระบบมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการทำบัญชีเดียว จะทำให้ SME เหล่านั้นมีความแข็งแกร่ง และความน่าเชื่อถือมากขึ้น สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อขยายการลงทุน จึงทำให้บริษัทฯรับอานิสงส์จากนโยบายดังกล่าวที่จะเจาะฐานลูกค้ากลุ่มนี้ได้ง่ายขึ้น
ดังนั้นบริษัทได้มีการเพิ่มจำนวนพนักงานฝ่ายขายและการตลาดอีกเท่าตัว และพัฒนาระบบ E-Factoring เพื่อรองการขยายตัวของปริมาณลูกค้าที่เพิ่มขึ้นตามนโยบายการขยายฐานลูกค้าใหม่ จากปัจจุบันบริษัทฯมีฐานลูกค้าเดิมในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ และค้าปลีกกว่า 600 รายที่จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของธุรกิจ และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน AEC
"ในปีนี้เรามั่นใจว่า AF จะกลับมาเทิร์นอะราวด์ได้ จากการปรับกลยุทธ์การขยายฐานลูกค้า บวกกับนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมผู้ประกอบการ SME และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน หรือ AEC ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีการขยายการลงทุน และมีความต้องการเงินทุน เพื่อใช้ในการขยายธุรกิจ ดังนั้นธุรกิจแฟคตอริ่งจึงที่มีความสัมพันธ์กับการเติบโตของธุรกิจ SME ที่จะมีการเติบโตตามไปด้วยกัน" นายสามชัยกล่าว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ไอร่า แฟคตอริ่ง (AF) กล่าวเพิ่มว่า จากประสบการณ์ที่ยาวนานกว่า 20 ปี ของAF ในด้านการดำเนินธุรกิจธุรกิจแฟคตอริ่ง และมีความแข็งแกร่งในด้านของฐานแหล่งเงินทุน ดังนั้นบริษัทฯจึงสามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ที่ระดับ 70-72% ต่อเนื่อง โดยสัดส่วนรายได้ของบริษัทฯจะมาจากรายได้ดอกเบี้ยจากการซื้อสิทธิเรียกร้อง ประมาณ 80% และที่เหลือประมาณ 20% มาจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการรับ
สำหรับผลการดำเนินของบริษัทฯในปี 2558 มีรายได้รวม 191.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.69% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรเป็นบวก แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจที่ยังทรงตัว ทำให้ปริมาณการซื้อขายสินค้าไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ประกอบกับบริษัทยังคงมีนโยบายความเข้มงวดในการควบคุมคุณภาพลูกค้าด้วย