นอกจากนี้ นายเมธี แย้มเกษรและนางสาวภัคมาส จิตมานะ ผู้ปฏิบัติงานที่รับผิดชอบโครงการ ได้เชิญ นายชัชวาล เอี่ยมตาก หัวหน้าวนอุทยานพุม่วง ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายที่ร่วมมือกับ อพท.7 เข้าร่วมชี้แจงภาพรวมโครงกา รวมทั้งได้เชิญ นางสาวสุชญา อัมราลิขิต ผู้อำนวยการสำนักบริหารยุทธศาสตร์ (สบย.) อพท.ส่วนกลาง กรุงเทพฯ ร่วมประชุมคณะทำงานฯ ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในครั้งนี้ด้วย
นายชัชวาล เอี่ยมตาก หัวหน้าวนอุทยานพุม่วง ได้อธิบายภาพรวมการดำเนินโครงการว่า การดำเนินการภายใต้โครงการนี้ ประกอบด้วย 5 กิจกรรมคือ 1) การพัฒนาศักยภาพบุคลากรและเยาวชนเพื่อพัฒนานักสื่อความหมายการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำนวน 30 คน 2) การปรับปรุงภูมิทัศน์เส้นทางเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในวนอุทยานพุม่วง 3) การจัดทำฝายชะลอน้ำเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4) จัดกิจกรรมนันทนาการเพื่อการโรยตัว การกู้ภัยและช่วยเหลือนักท่องเที่ยวในพื้นที่วนอุทยานพุม่วง 5) การจัดประชุมสรุปและรายงานผลแก่ อพท.
ซึ่งกิจกรรมที่ 4 การโรยตัวและการกู้ภัยในพื้นที่ป่าเพื่อช่วยเหลือนักท่องเที่ยวและการจัดกิจกรรมนันทนาการ ต้องใช้งบประมาณมากกว่ากิจกรรมหมวดอื่น ทางวนอุทยานพุม่วงจึงเสนอขอโยกวงเงินจากกิจกรรมหนึ่งไปสู่กิจกรรมหนึ่งที่ต้องใช้งบประมาณมากกว่า แต่ยอดงบประมาณที่ใช้ดำเนินกิจกรรมทั้งโครงการเท่าเดิม และได้ผลลัพธ์ของความสำเร็จตามข้อตกลงความร่วมมือ แต่จะเกิดความสะดวกในการใช้จ่ายกิจกรรมที่สามารถนำมาถั่วเฉลี่ยได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากกิจกรรมนันทนาการการโรยตัวและการกู้ภัยในพื้นที่ป่าต้องใช้อุปกรณ์และเทคนิคต่างๆ มากมาย จึงปรับเพิ่มวงเงินกิจกรรมในหมวดนี้ ให้เกิดความสอดคล้องกับการดำเนินงานได้จริงในพื้นที่
มติที่ประชุมคณะทำงานฯ เห็นชอบให้วนอุทยานพุม่วงสามารถดำเนินการดังกล่าวได้ ภายใต้ผลลัพธ์และงบประมาณเท่าเดิมตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง อพท.7 และ วนอุทยานพุม่วง ที่ได้ลงนามไว้เลขที่ อพท.7-5/2559 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 และขอให้วนอุทยานพุม่วงจัดทำทะเบียนครุภัณฑ์ที่ได้รับการสนับสนุนจาก อพท.เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบครุภัณฑ์ได้ชัดเจน
วนอุทยานพุม่วง มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญคือ สวนหินพุหางนาค น้ำตกพุม่วง แหล่งโบราณสถานคอกช้างดิน วัดถ้ำเสือ ฐานศิลาแลงสมัยทวารวดีกระจัดกระจายในพื้นที่ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาตะโกปิดทองและป่าเขาเพชรน้อย รวมเนื้อที่ 1,725 ไร่ มีพันธุ์ไม้ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เช่น ปรงตากฟ้า จันทน์ผา สุพรรณิการ์ โดย โครงการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นวนอุทยานพุม่วง นี้ ถือเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้การขับเคลื่อนโครงการใหญ่ที่ชื่อว่า "โครงการพัฒนาเมืองท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เมืองโบราณอู่ทอง ปี 2559" ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการจะช่วยกระตุ้นจิตสำนึกให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ร่วมใส่ใจพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเมืองโบราณอู่ทองให้ยั่งยืนและต่อยอดเป็นอาสาสมัครร่วมพิทักษ์ผืนป่ากับเจ้าหน้าที่วนอุทยานพุม่วงและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ขณะเดียวกันยังสร้างความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ที่เดินทางมาเที่ยววนอุทยานพุม่วงว่าจะได้รับความช่วยเหลือตามมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล
เพราะในครั้งนี้ ทางวนอุทยานพุม่วงจะจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ที่ใช้โรยตัวและกู้ภัยในพื้นที่ป่า เช่น เชือกโรยตัว 12 มิลลิเมตร ยาว 100 เมตร จำนวน 2 เส้น, เชือกส่วนบุคคลขนาด 15 มิลลิเมตร ยาว 4 เมตร จำนวน 10 เส้น, หมวกกันกระแทก 12 ใบ, ถุงมือหนังสำหรับโรยตัว 10 คู่, คารามิเนอร์ 15 ตัว, ห่วงเลข 8 จำนวน 6 ตัว, เชือกถักเขียว 15 มิลลิเมตร ยาว 100 เมตร, รอกกู้ภัยร่องคู่ จำนวน 2 ตัวและรอกกู้ภัยร่องเดี่ยว จำนวน 2 ตัว เป็นการเพิ่มเติม เพื่อให้วนอุทยานพุม่วง ซึ่งยังขาดแคลนอุปกรณ์ในการดำเนินกิจกรรมบางส่วน สามารถใช้โรยตัวและกู้ภัยได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมสันทนาการที่วนอุทยานพุม่วงจะเปิดอบรมนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบความท้าทายและการผจญภัยให้มาฝึกอบรมเพิ่มทักษะความรู้การกู้ภัยในพื้นที่ป่าได้ที่วนอุทยานพุม่วง โดยการสนับสนุนจาก อพท.
ที่ผ่านมา ในปี 2558 อพท.7 และวนอุทยานพุม่วง ได้เคยจัดอบรม "อาสาสมัครเพื่อการท่องเที่ยวเมืองโบราณอู่ทอง (การปฐมพยาบาลและการกู้ภัยในพื้นที่ป่าภูเขาเบื้องต้น)" ไปแล้วเมื่อวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2558 โดยในครั้งนั้น ได้สร้างเครือข่ายภาคประชาชนและได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยกู้ภัยในพื้นที่ อาทิ เจ้าหน้าที่ชุดกู้ภัยประจำอุทยานแห่งชาติ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอุทยานแห่งชาติ เจ้าหน้าที่สายตรวจป้องกันและปราบปรามอุทยานแห่งชาติ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนอู่ทอง ชมรมนำเที่ยวสำนักสงฆ์สวนหินพุหางนาค ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองโบราณทวารวดีอู่ทอง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านอู่ทอง (อสม.อู่ทอง) หน่วยกู้ภัยจักรนารายณ์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน เยาวชนและประชาชนทั่วไปในพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง เข้าร่วมฝึกอบรม จำนวนกว่า 100 คน ผลลัพธ์ได้ครั้งนั้น ทำให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้การห้ามบาดแผลและการห้ามเลือด สภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากสัตว์มีพิษ การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากอาการทางกระดูกและการดามด้วยการประยุกต์จากวัสดุธรรมชาติ การช่วยเหลือและการฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน มีการจำลองสถานการณ์การเข้ากู้ภัยในพื้นที่ป่า-ภูเขา ฝึกการใช้เงื่อนและเชือกในการกู้ภัย การประยุกต์ใช้อุปกรณ์ในการกู้ภัย เรียนรู้อุปกรณ์กู้ภัยและฝึกเทคนิคการปฏิบัติโรยตัว ณ สวนหินพุหางนาค มีการประสานงานกับรถฉุกเฉินในพื้นที่ โดยคำนวณเวลาและจุดนัดพบเพื่อรองรับสถานการณ์ได้จริง แต่ในครั้งนั้นไม่มีการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์การกู้ภัย เนื่องจากศูนย์ประสานงานกู้ภัยอุทยานแห่งชาติที่ ๒ (ภาคตะวันตก) เป็นวิทยากรหลักและได้จัดหาอุปกรณ์เพื่อใช้ระหว่างสอนในครั้งนั้น