นายณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด หรือ BMN กล่าวว่า "BMN มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่นับจากวันนี้รูปแบบการดำเนินธุรกิจจะเปลี่ยนไป เราจึงเตรียมที่จะรีแบรนด์ธุรกิจ เพื่อสนองตอบความท้าทายและโอกาสใหม่ ๆ ทั้งจากการก่อตั้ง BEM บริษัทแม่ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านระบบคมนาคมขนส่งแบบครบวงจร การขยายเครือข่ายระบบขนส่งมวลชนทั้งรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีและทางด่วนเส้นทางใหม่ ๆ ภายใต้การดำเนินงานของ BEM ประกอบกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ย่านการค้าและธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นตามเส้นทางรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีและทางด่วน ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการสัญจรของผู้โดยสารและผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล"
"ตัวผมเข้ามาเสริมทีมผู้บริหารชุดเดิมเพื่อช่วยวางแนวทางการสร้างความเติบโต และใช้มุมมองใหม่ ๆ มาบริหารธุรกิจทั้งด้านสื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ พื้นที่ค้าปลีก การให้บริการระบบสัญญาณโทรคมนาคม เพื่อเตรียมความพร้อมให้ BMN สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคตอันใกล้นี้ และอีกหนึ่งภารกิจคือ การนำ BMN เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะพร้อมดำเนินการในอนาคตอันใกล้"
BMN มีศักยภาพในการลงทุนที่สูงขึ้น จากความแข็งแกร่งทางการเงินของ BEM แต่ในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องเลือกใช้กลยุทธ์การสร้างความเติบโตที่เสริมสร้างให้ธุรกิจมีศักยภาพ และตอบสนองความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันและอนาคต ก้าวใหม่ของ BMN จะเริ่มจากการรีแบรนด์เพื่อสร้างสรรภาพลักษณ์องค์กรให้สดใหม่ มีเอกลักษณ์ในการสร้างการรับรู้และเป็นที่จดจำได้เด่นชัดยิ่งขึ้น ส่วนการสร้างการเติบโตของรายได้จะมุ่งเน้นทั้งจากลูกค้าเดิม และขยายฐานสู่ลูกค้าใหม่ ขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ ทั้งสื่อโฆษณาที่หลากหลายและผสมผสาน นวัตกรรมสร้างสรรค์สื่อโฆษณาที่ตอบโจทย์ลูกค้าและเอเจนซีอย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร โดยคำนึงถึงการไม่เกิดผลกระทบต่อผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ ควบคู่การใช้กลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ ๆ นอกจากนั้น จะมีการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ ๆ อย่างหลากหลายเพื่อส่งเสริมซึ่งกันและกัน
"ล่าสุด เราได้ร่วมเป็นสปอนเซอร์รายการเดอะ เฟซ ไทยแลนด์ โดยให้ผู้ชนะเลิศการแข่งขัน ติช่า-กันติชา ชุมมะ มาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ BMN มีภาพปรากฏอยู่บนบิลบอร์ดในสถานีเอ็มอาร์ที ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของเมืองไทยซึ่งสร้างกระแสความสนใจและได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก" นายณัฐวุฒิกล่าวเสริม
สำหรับการพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ ของ BMN ในปี 2559 สามารถสรุปได้ดังนี้
• ธุรกิจสื่อโฆษณาบนรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีและโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) - แนวทางการพัฒนาธุรกิจจะมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนานวัตกรรมในการสร้างสรรค์สื่อโฆษณา เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงการไม่เกิดผลกระทบต่อผู้โดยสารในสถานี ใช้สื่อโฆษณาที่หลากหลายยิ่งขึ้น เข้าถึงผู้บริโภคในรูปแบบที่น่าสนใจและไม่เคยปรากฏมาก่อน เช่น การปล่อยกลิ่น และการใช้สื่อผสม เป็นต้น โดยปัจจุบัน ธุรกิจมีอัตราการเติบโตที่ต่อเนื่อง และสามารถสร้างรายได้ได้เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราค่าโฆษณาในบางพื้นที่ สื่อโฆษณาบนรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 10% ในตลาดทรานสิทมีเดีย (Transit Media) ของไทย และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามการขยายตัวของเส้นทางเอ็มอาร์ที นอกจากนั้น การขยายตัวในโครงการใหม่ ๆ ปี 2559 นี้ เช่น ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอก และรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีสายสีม่วง จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับการพัฒนาเชิงพาณิชย์และธุรกิจสื่อโฆษณาของ BMN
• ธุรกิจบริหารพื้นที่ค้าปลีกในสถานีรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที - จะมีการขยาย Metro Mall พื้นที่ค้าปลีกเพิ่มจากเดิม 5 สถานีเป็น 6 สถานี โดยสถานีที่เพิ่มใหม่คือ ลาดพร้าว และมีการจับมือกับพันธมิตรใหม่ ๆ อย่าง แม็กซ์แวลู ซึ่งเช่าพื้นที่ 1,700 ตรม. ด้านล่างอาคารจอดรถของสถานีลาดพร้าวเพื่อเปิดซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้า และร้านอาหาร คาดว่าพร้อมเปิดให้บริการไตรมาส 4 ปี 2559, LAWSON108 และคาเฟ่ อเมซอน นอกจากนั้น จะมีการจัดกิจกรรมการตลาดและสร้างสรรค์ธีมประจำเดือนสำหรับ Metro Mall ขณะเดียวกัน สถานีอื่น ๆ ที่มีศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกในอนาคตอันใกล้จากการขยายตัวของโครงการอสังหาริมทรัพย์ ศูนย์การค้าและธุรกิจ ตลอดจนโครงการเชิงพาณิชย์ต่าง ๆ ในบริเวณข้างเคียง
• ธุรกิจให้บริการระบบสัญญาณโทรคมนาคม – จะมีการลงทุนระบบสื่อสารโทรคมนาคมในสถานี
เอ็มอาร์ทีทั้ง 18 สถานีให้รองรับสัญญาณ 4G LTE ได้ทั้งหมดภายในปี 2559 เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเชื่อมต่อการสื่อสารได้อย่างสะดวกและรวดเร็วในทุกจุดของสถานี