เครือข่ายนักศึกษาและอาจารย์ชายแดนใต้รวมพลังวิจัยสร้างความรู้สนองตอบท้องถิ่น สกอ.จับมือสถาบันรามจิตติหนุนมหาวิทยาลัย “สร้างเรียนรู้เพื่อรับใช้ชุมชน” อย่างต่อเนื่อง

จันทร์ ๒๘ มีนาคม ๒๐๑๖ ๑๓:๕๙
เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2559 ไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ เครือข่ายนักศึกษาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมพลังนำเสนอความก้าวหน้าการดำเนินงานวิจัยของนักศึกษาในเวที "ประชุมติดตามความก้าวหน้าแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานวิจัย" ในโครงการเครือข่ายวิจัยสังคมระดับปริญญาตรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (SURN) โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันรามจิตติและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยฟาฏอนีโดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา โดยมีผศ.พัชรียา ไชยลังกา รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ ที่ปรึกษาสถาบันรามจิตติและผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ผศ.สนั่น เพ็งเหมือน ผู้อำนวยการสถานวิจัยพหุวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และแกนนำคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วมเวที โดยมีการนำเสนองานวิจัยของนักศึกษาพร้อมด้วยกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เติมพลังนักศึกษาและอาจารย์รวมกว่า 250 คนที่เข้าร่วมงาน

โครงการเครือข่ายวิจัยสังคมระดับปริญญาตรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (SURN) มุ่งสนับสนุนให้นักศึกษาดำเนินการวิจัยสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งต่อยอดเป็นปีที่ 2โดยเน้นการเอาข้อมูลสภาวการณ์ของชุมชนเป็นฐานในการตั้งโจทย์วิจัย และเน้นให้นักศึกษาใช้กระบวนการเรียนรู้ด้วยการวิจัยในการค้นหาและสร้างความรู้บนความร่วมมือกับชุมชนต่างๆ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาของแต่ละพื้นที่ ขณะเดียวกันเน้นให้อาจารย์มหาวิทยาลัยใช้กระบวนการเรียนรู้ผ่านการวิจัยเป็นเครื่องมือพัฒนาการเรียนการสอน พัฒนานักศึกษาในสาขาต่างๆ รวมถึงใช้เป็นกิจกรรมทางเลือกให้นักศึกษาเรียนรู้กับชุมชนเพื่อชุมชน ที่สำคัญคือการอาศัยการรวมพลังความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามาร่วมขับเคลื่อนการทำงานในฐานะโหนดวิจัย โดยในปีนี้มีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยฟาฏอนีเข้ามาร่วมทำงานแบบรวมพลังกันเป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยวิจัยเป็นปีที่ 2 ที่ต่อยอดการทำงานจากปีที่แล้ว ภารกิจปีนี้จึงไม่ใช่เพียงเป็นการต่อยอดขยายผล แต่เป็นยกระดับการทำงานทั้งในแง่การสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยมีกลไกการพัฒนานักศึกษาโดยผ่านกระบวนการวิจัยและเรียนรู้ร่วมกับชุมชนท้องถิ่น การพัฒนาเครือข่ายคณาจารย์และบุคลากรด้วยกลไกวิจัยและการจัดการความรู้ การมีระบบพี่เลี้ยงวิจัยของมหาวิทยาลัย และใช้พลังของสถาบันอุดมศึกษาร่วมเป็นเครือข่ายสร้างพลังสร้างการเรียนรู้และสร้างความรู้เพื่อสนองตอบต่อการพัฒนาท้องถิ่นในบริบทที่ต่างกันปีนี้จึงมีทั้งการขยายผลเครือข่ายนักศึกษาและเครือข่ายคณาจารย์ที่เข้ามาร่วมกระบวนการเรียนรู้ด้วยการวิจัยจากสาขาต่างๆ อาทิเช่น สาขาวิชาการศึกษา สาขาวิชาพัฒนาสังคม สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ สาขาวิชาชีววิทยา สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป สาขาวิชานิติศาสตร์ เป็นต้น และกิจกรรมทางเลือกสำหรับนักศึกษาชมรมจากมหาวิทยาลัยต่างมาร่วมกันดำเนินโครงการวิจัยของนักศึกษา 49 โครงการ นักศึกษากว่า 300 คนเข้าร่วมโครงการซึ่งยังไม่นับเด็กเยาวชนและชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่เข้ามาร่วมในกระบวนการวิจัยที่เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการอีกด้วย

ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ ที่ปรึกษาสถาบันรามจิตติ ทีมประสานเครือข่ายวิจัยด้านเด็ก เยาวชน และการเรียนรู้ ผู้ประสานหน่วยงานภาคีนโยบายสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่ให้การสนับสนุน โครงการนี้ กล่าวว่า สถาบันรามจิตติซึ่งได้ทำงานร่วมกับภาคีหลายฝ่ายในการร่วมขับเคลื่อนการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเด็กเยาวชนและสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี เราเห็นพลังของการเรียนรู้ของคนในกลุ่มวัยต่างๆ ที่ต่างก็เป็นพลังการเรียนรู้ที่มีคุณค่า กลุ่มเยาวชนนักศึกษาเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นพลังที่สำคัญ ทั้งด้วยวัยที่ยังเป็นวัยรุ่นวัยเปี่ยมพลัง ด้วยโอกาสทางการศึกษาที่อยู่ในระดับอุดมศึกษา ด้วยการมีหน่วยสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่ชุมชนต่างๆ ที่พร้อมจะเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้นักศึกษา เราเห็นพลังของคณาจารย์ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยไหนที่ยังเต็มไปด้วยอุดมการณ์และไฟการเรียนรู้ที่พร้อมจะติดสว่างเบิกทางให้เด็ก เราเห็นพ่อแม่ชาวบ้านชุมชนต่างๆ ที่กำลังตั้งคำถามกับวิกฤตของระบบการศึกษา รวมถึงสิ่งที่กำลังท้าทายกับการทำงานในรอบหลายๆปีเพื่อความมั่นคงของชีวิตและอนาคตของคนชายแดนใต้ จึงมองว่า จำเป็นยิ่งที่จะทำให้โครงการเครือข่ายวิจัยสังคมระดับปริญญาตรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (SURN) เข้ามาช่วยตอบโจทย์ในหลายเรื่องได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกำลังคนรุ่นใหม่ทั้งนักศึกษา คณาจารย์ที่เป็นนักเรียนรู้นักค้นคว้านักคิดนักสร้างสรรค์และทักษะสำคัญๆ ที่เรากำลังพูดถูกกันมากในศตวรรษที่ 21 แต่มากกว่านั้นเรากำลังร่วมกันกับเครือข่ายคนเครือข่ายความรู้ในการออกแบบการเรียนรู้หรืออุดมศึกษาที่เราอยากเห็นว่า จะเป็นอุดมศึกษาที่จะสร้างปัญญาสร้างคุณค่าให้กับคนในพื้นที่ เป็นมหาวิทยาลัยที่เด็กมาเรียนและไม่ดึงเขาแปลกแยกจากชีวิตจริง เรียนรู้เพื่อจะใช้ความรู้ทฤษฎีไปอย่างมีความหมายไม่ใช่แค่ใช้ในชีวิตแต่ใช้เพื่อรู้จักคิดรู้จักใช้ และเพื่อรับใช้สร้างสรรค์สังคมที่เขาอยู่ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดูจะเต็มไปด้วยเงื่อนไขหลายอย่างที่เรากำลังพูดเรื่องความไม่สงบ ความไม่มั่นคงก็ตาม แต่สิ่งที่เด็กๆ กำลังทำอาจารย์กำลังทำ คือการก้าวข้ามเงื่อนไขที่กำลังฉุดรั้งการเรียนรู้ด้วยมายาคติต่างๆ แต่กำลังก้าวออกไปสู่การเรียนรู้ที่มีความหมายและใช้พลังใช้ศักยภาพที่มีเพื่อสร้างสรรค์การเรียนรู้และสร้างสรรค์สังคม ที่จะรวมไปถึงการเชื่อมต่อการเรียนรู้ไปสู่ภาคส่วนต่างๆ ทั้งการเรียนรู้ในระบบ นอกระบบ และการเรียนรู้ในชุมชนท้องถิ่นหรือการเรียนรู้ร่วมกันของทั้งสังคม

ดร.เรชา ชูสุวรรณ หัวหน้าโครงการเครือข่ายวิจัยสังคมระดับปริญญาตรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (SURN) กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมในวันนี้ว่า โครงการเครือข่ายวิจัยสังคมระดับปริญญาตรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (SURN) เป็นโครงการที่ไม่ใช่เพียงให้ทุนนักศึกษาทำวิจัย แต่เราจะมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเสริมพลังมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่กิจกรรมตั้งหลักคิดตั้งทิศตั้งโจทย์ จนมาสู่กิจกรรมติดตามงานเป็นระยะๆ หลังจากที่นักศึกษาและอาจารย์พี่เลี้ยงได้ร่วมกันทำวิจัยร่วมกับชุมชน วันนี้จึงเป็นกิจกรรมติดตามงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานในระยะครึ่งทางที่เด็กๆ ได้ทำวิจัย จะมีโครงการวิจัยที่น่าสนใจหลากหลายสาขาโดยมีอาจารย์เป็นพี่เลี้ยงและร่วมเรียนรู้ไปกับนักศึกษา ในแง่เนื้อหาองค์ความรู้ก็จะมีหลากหลายมิติ เช่น มิติสิ่งแวดล้อม เรื่อง "Zero Waste ขยะเท่ากับศูนย์" มิติวิทยาศาสตร์ เรื่อง "การผลิตแก๊สชีวภาพจากน้ำทิ้งในกระบวนการแปรรูปน้ำยาง" มิติเศรษฐกิจ "การแปรรูปมะม่วงหาวมะนาวโห่เพื่อชุมชนบ้านโสร่ง" การพัฒนาชุมชน "การพัฒนารูปแบบการมีส่วนร่วมในการจัดการบริหารจัดการขยะ" มิติสังคม เรื่อง "แม่วัยรุ่น แม่วัยรุ่นกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป" ฯลฯ ประเด็นที่น่าสนใจไม่ใช่เพียงแต่เป็นองค์ความรู้เชิงเนื้อหา แต่สิ่งสำคัญเป็นกระบวนการที่เด็กๆได้เรียนรู้ร่วมกับชุมชน และอาจารย์ก็ร่วมในกระบวนการดังกล่าวด้วยซึ่งทำให้การเรียนรู้กว้างกว่าตำรา กว้างกว่าห้องเรียน แต่เป็นการเรียนรู้ในสนามการเรียนรู้จริงของเด็กๆ โดยถัดจากนี้ก็เป็นสิ่งท้าทายว่าเราจะถอดความรู้ที่ไม่ใช่แค่องค์ความรู้ที่หลากหลายในมิติต่างๆ แต่จะถอดบทเรียนจากความรู้และการเรียนรู้ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในตัวนักศึกษา คณาจารย์ และกลไกร่วมของมหาวิทยาลัย รวมถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนท้องถิ่นอย่างไรด้วย ซึ่งผมยิ่งมั่นใจมากว่า การศึกษาดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือที่ดีของการพัฒนาคนและพัฒนาสังคมโดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนใต้ของเรา

ด้านผศ.พัชรียา ไชยลังการองอธิการบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีผู้นำโหนดขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยวิจัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า "การพัฒนาคนในระดับอุดมศึกษาเป็นการเตรียมกำลังคนเพื่อไปสู่การพัฒนาสังคม และความต้องการสำคัญคือการคืนคนที่มีคุณภาพกลับสู่ชุมชนเพื่อพัฒนาสังคมพัฒนาพื้นที่ที่เป็นถิ่นฐานบ้านเกิดดังนั้นการเรียนรู้ที่สำคัญต้องมีเป้าหมายกิจกรรมการเรียนรู้ที่กลับไปเรียนรู้และรับใช้ชุมชน สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่ช่วยพัฒนาทั้งนักศึกษาและอาจารย์ไปในทิศทางที่มหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นความสำคัญร่วมกัน ต้องขอบคุณสกอ.ที่ได้สนับสนุนมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ขอบคุณผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ร่วมถึงสถาบันรามจิตติที่มาร่วมขับเคลื่อนงานในโครงการนี้ เป็นความท้าทายของมอ.เองที่จะมีบทบาทในการเป็นหน่วยกลางเชื่อมโยงการทำงานและพลังเครือข่ายขับเคลื่อนการเรียนรู้ของนักศึกษาเพื่อนักศึกษา เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน และเพื่อชุมชน"

ด้านเครือข่ายนักศึกษาที่ทำวิจัยได้กล่าวถึงงานและผลการทำงานที่ผ่านมาไว้หลากหลายแง่มุม อาทิ นางสาวรุชดา หมัดโส๊ะนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ทีมวิจัยเรื่องแนวทางการพัฒนาสู่วิสาหกิจชุมชนของกลุ่มแม่บ้านมุสลิมะฮฺ หมู่บ้านจะแลเกาะ กล่าวถึงงานวิจัยที่ทำว่า "งานวิจัยที่ทำเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าทฤษฎีเรียนรู้ในตำรานั้นมีความหมาย โครงการวิจัยจะเป็นกระบวนการที่ทำให้เรารู้จักปรับใช้ เรียนรู้และสิ่งสำคัญคือทำให้เราเห็นต้นทุนเห็นคุณค่าของคนในชุมชน"

ส่วนนางสาวมนิดา นกเกษมนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมต่อวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน ตำบลรูสะมิแล เมืองปัตตานีกล่าวถึงงานวิจัยที่ทำว่า "งานวิจัยบนฐานชุมชนนอกจากทำให้เราได้ใช้ความรู้ที่เรียนให้สอดคล้องกับพื้นที่จริงแล้ว การวิจัยยังเปิดให้เราได้เห็นปัญหาที่กว้างขึ้น เห็นความสัมพันธ์ที่สอดคล้องของปัญหาและกระบวนการในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้การดึงให้คนในชุมชนเห็นปัญหาและร่วมกันแก้ปัญหาในที่ต้นเหตุร่วมกันจะทำให้การแก้ปัญหาในชุมชนนั้นๆเป็นไปได้อย่างแท้จริง"

ด้านอาจารย์ลิลลา อดุลยศาสน์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ที่ปรึกษานักศึกษา กล่าวว่า การเรียนรู้ดังกล่าวนอกจากจะเรียนรู้ในวิชาที่เรียนแล้วยังต้องบูรณาการกับความรู้ในอีกหลากหลายศาสตร์แต่ที่ท้าทายคือความรู้นอกห้องเรียนความรู้จากชุมชนที่ทำให้เด็กๆต้องคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้างความรู้จากการเรียนในห้องไปสู่ความรู้ชุมชนและสร้างองค์ความรู้ที่ชุมชนต้องการจริงๆ

ในเวทีดังกล่าว ยังมีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมเวทีสะท้อนมุมมองจากผลงานเด็กๆ โดยมีนางเลขา เกลี้ยงเกลา นักสื่อสารมวลชนจากศูนย์ข่าวอิศรา ร่วมแลกเปลี่ยนในฐานะผู้สื่อสารและขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า "ในฐานะสื่อมวลชนรู้สึกชื่นชมในสิ่งที่นักศึกษาได้ทำ และดีใจที่นักศึกษาในพื้นที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีๆในพื้นที่ เพราะทุกวันนี้ในสามจังหวัดชายแดนมีแต่ข่าวแรงข่าวร้อนที่สร้างแต่ความขัดแย้งของคนในพื้นที่ เราต้องการข่าวเย็นที่เป็นประโยชน์ซึ่งสื่งที่นักศึกษาได้ทำในครั้งนี้ไม่เป็นเพียงใช้ความรู้การวิจัยมาแก้ปัญหาสังคมแต่ยังเป็นการช่วยกันสร้างเรื่องดีๆให้เกิดขึ้นในพื้นที่ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจอันดีของคนนอกพื้นที่และคนในพื้นที่ชายแดนใต้อีกด้วย"

อย่างไรก็ตาม โครงการเครือข่ายวิจัยสังคมระดับปริญญาตรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (SURN) กำลังเข้าสู่ระยะของการเก็บข้อมูลเติมเต็มและตอบโจทย์วิจัย สรุปและถอดบทเรียนความรู้และการทำงาน โดยจะมีกิจกรรมของนักศึกษาในการลงพื้นที่ "คืนข้อมูลสู่ชุมชน" ในเดือนหน้า และกิจกรรมถอดบทเรียนสรุปความรู้ และเผยแพร่สร้างผลกระทบต่อไป ซึ่งผู้สนใจกิจกรรมดังกล่าวสามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ใน เพจกลุ่มSURNFacebook และติดตามการทำงานของเครือข่ายนักศึกษาได้จากมหาวิทยาลัยทั้งสามแห่งโดยตรง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ