พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ รองผู้อำนวยการ สรพ. ผู้ดำเนินการเสวนาเกริ่นนำว่า ยุทธศาสตร์ที่สำคัญหนึ่งขององค์การอนามัยโลก (WHO) คือ การวิจัยเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย ที่ได้ประกาศท้าทายความสามารถของสมาชิกทั่วโลก ให้สร้างองค์ความรู้ที่เหมาะกับบริบทของประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบบริการที่ดียิ่งขึ้น แต่หากมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ยังมีคำถามที่สำคัญคือ การศึกษาวิจัยด้านคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วยเราลำดับความสำคัญไว้อย่างไร หรือจะมีการตั้งโจทย์วิจัยอย่างไรเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วย
รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (TRC-HS) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันงานวิจัยด้านคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วยในประเทศไทย ยังถือว่ามีน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการพัฒนาคุณภาพ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาปรับปรุงภายในองค์กรเท่านั้น ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมีความต้องการองค์ความรู้จากงานวิจัย เพื่อยกระดับความปลอดภัยของผู้ป่วย ลดช่องว่างของปัญหาสุขภาพในภาพรวมของประเทศอีกมาก จึงจำเป็นต้องมีการลำดับความสำคัญโจทย์วิจัยจากสถานการณ์ปัญหาที่สำคัญๆ ไว้เป็นลำดับต้นๆ
"ตัวอย่างหัวข้อการวิจัยด้านคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วยในประเทศไทยที่น่าสนใจ เช่น ประเด็นสังคมผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง ข้อจำกัดด้านทรัพยากร สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการทำงานที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย และโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการวิจัยเพื่อพัฒนาแนวทางการทำงานและการแก้ไขปัญหาอย่างได้ผล เป็นต้น" รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ กล่าว
ทางด้าน รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช กล่าวว่า สิ่งสำคัญ คือ การเชื่อมโยงงานวิจัยเข้ากับงานประจำ หรือเป็นการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย R2R (Routine to Research) ทั้งนี้ ต้องเป็นการวิจัยเพื่อใช้ในการแก้ปัญหา หรือเพิ่มคุณภาพงานที่ทำอยู่ได้จริง โดยทำให้เกิดคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบบริการและการพัฒนาระบบสุขภาพได้ในที่สุด ปัจจุบันศิริราช มีเครือข่ายวิจัย R2R จำนวน 9 เครือข่ายทั่วประเทศ โดยประเด็นด้านคุณภาพและความปลอดภัยในระบบบริการสุขภาพ เป็น 1 ในหัวข้อที่ทุกเครือข่ายให้ความสนใจในการศึกษา ทั้งนี้ สวรส. จะเป็นหน่วยงานสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดงานวิจัย R2R ในลักษณะนี้ได้เป็นอย่างดี
นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า การพัฒนาโจทย์วิจัยที่เกี่ยวกับคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วยในโรงพยาบาล อาจจะเริ่มต้นจากสถานการณ์ปัญหาในภาพรวม เช่น อัตราการคลอด มีเฉลี่ยที่ 8 แสนคน/ปี อัตราการผ่าตัดไส้ติ่ง เฉลี่ย 1 แสนคน/ปี จำนวนเหล่านี้สะท้อนได้ถึงจำนวนผู้ป่วย จำนวนการใช้เตียง รวมไปถึงปัญหาการร้องเรียนที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยนำข้อมูลเหล่านี้มาพัฒนาเป็นจุดตั้งต้นของโจทย์วิจัยสำคัญ เพื่อค้นหาองค์ความรู้มาช่วยลดความเสี่ยงและลดอัตราความสูญเสียต่อไป
"สวรส. ได้มีการส่งเสริมให้บุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาล ก้าวสู่การเป็นนักวิจัย (Research Hospital) แต่ยังพบข้อจำกัดหลายประการ เช่น ด้านทรัพยากรที่เหมาะสม ที่พบว่า โรงพยาบาลหลายแห่ง ยังไม่มีงบประมาณสำหรับทำวิจัย ขณะนี้ สวรส. ได้หารือกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหาแนวทางผลักดันให้หน่วยงาน/โรงพยาบาลในสังกัด พัฒนาเป็น Research Hospital โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่เคยผ่านทำการวิจัย R2R มาแล้วและพร้อมจะก้าวสู่การวิจัยในเชิงระบบ ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วเมื่อพบปัญหาที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อระบบในโรงพยาบาล ก็พร้อมที่จะลงทุนวิจัยในการหาแนวทาง ลดการเกิดปัญหาในพื้นที่" ผอ.สวรส. กล่าว
นพ.พีรพล กล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากบทบาทด้านการส่งเสริมให้มีนักวิจัย มีสถาบันวิจัยฯ แล้ว สวรส. ยังจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการ ตลอดจนเชื่อมประสานแหล่งทรัพยากรและจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำวิจัยด้วย ทั้งนี้คนทำวิจัยเองต้องตอบคำถามถึงผลลัพธ์ที่จะได้จากงานวิจัยในการแก้ปัญหา หรือทำให้เกิดคุณภาพกับระบบสุขภาพในภาพรวมให้ได้ โดย สรพ. สามารถเข้ามาร่วมพัฒนาโจทย์ตลอดจนกระบวนการพัฒนางานวิจัยคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วยคู่ขนานกันไป