สศอ. แถลงการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน กุมภาพันธ์ 2559 หดตัวน้อยลงที่ร้อยละ 1.62

อังคาร ๒๙ มีนาคม ๒๐๑๖ ๑๗:๑๗
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกุมภาพันธ์ 2559 หดตัวน้อยกว่าเดือนมกราคม 2559 ที่หดตัวร้อยละ 3.5 โดยในเดือนกุมภาพันธ์ MPI หดตัวเพียงร้อยละ 1.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (หักทองคำ) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.33

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในภาพรวมของเดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีอัตราการหดตัวร้อยละ 1.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ รถยนต์ เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องแต่งกาย และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณถึงแนวโน้มเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดย MPI หดตัวน้อยลงจาก เดือนมกราคม 2559ที่หดตัวร้อยละ 3.5 อัตราการใช้กำลังผลิตที่ยกระดับเพิ่มขึ้นที่ 65.7 ในรอบ 11 เดือน ดัชนีการส่งสินค้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.34 แสดงถึงมีการจำหน่ายสินค้าที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.62

อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีมีการปรับตัวลดลง ได้แก่

อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.11อย่างไรก็ตาม การส่งออกรถกระบะประเภท PPV เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 136.82 ซึ่งมีการเพิ่มขึ้นในตลาดประเทศแถบตะวันออกกลาง โอเชียเนีย และแอฟริกา

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า มีการผลิตลดลงร้อยละ 12.76 และการบริโภคเหล็กของไทยลดลง ร้อยละ 5.18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยหลักยังคงเป็นการไหลเข้าของเหล็กสำเร็จรูปจากจีน

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีการผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ในส่วนของเส้นใยสังเคราะห์ โดยในส่วนของเส้นด้านผลิตลดลงตามการผลิตผ้าผืนที่ลดลงร้อยละ 0.52 ในส่วนการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 12.7 เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อในประเทศและต่างประเทศที่ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าของประเทศคู่แข่ง

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาพรวมของการผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 0.87 โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.43 ขณะที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 โดยกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 3 อันดับแรก ได้แก่ พัดลม หม้อหุงข้าว เตาอบไมโครเวฟ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.53, 23.49 และ 13.36 ตามลำดับ โดยการปรับตัวเพิ่มขึ้นของสินค้าพัดลม เนื่องมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของการส่งออกในตลาดอาเซียนเป็นหลัก ส่วนการปรับตัวเพิ่มขึ้นของสินค้าหม้อหุงข้าว สินค้าเตาอบไมโครเวฟ เนื่องมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการผลิตเพื่อการจำหน่ายในช่วงเทศกาล

อุตสาหกรรมที่ส่งผลบวกต่อดัชนีอุตสาหกรรม ได้แก่

อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตและส่งออกในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.1 และ 4.4 ตามลำดับ เนื่องจากการผลิตผักผลไม้ ปศุสัตว์และน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น แม้จะมีปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรของโลกลดลง แต่ส่งผลแนวโน้มราคาสินค้าเพิ่มขึ้นทำให้การผลิตและการส่งออกปรับตัวดีขึ้น โดยในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก ความต้องการผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนเนื้อสัตว์แช่แข็งในประเทศเพิ่มขึ้น

เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.07 ซึ่งเพิ่มขึ้นในเกือบทุกรายการสินค้า ดังนี้ สร้อย, ต่างหู , แหวน , และจี้ เนื่องจากสินค้าที่ผลิตเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและมีการพัฒนารูปแบบใหม่ๆ ที่มีความสวยงาม รวมถึงสามารถเก็บเป็นของสะสมได้ ทำให้สินค้าได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของกลุ่มลูกค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ผลิตภัณฑ์พลาสติก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.33 จากถุงพลาสติก และกระสอบพลาสติก เนื่องจากความต้องการภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น

ผลิตภัณฑ์ยาง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.17 จากผลิตภัณฑ์ยางแท่งและผลิตภัณฑ์ยางแผ่น เนื่องจากมีพื้นที่เปิดการกรีดหน้ายางเพิ่มขึ้น ทำให้ผลผลิตน้ำยางออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ และเครื่องยนต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.36 ในสินค้าเครื่องยนต์ดีเซล จากความต้องการใช้ภายในประเทศเป็นหลัก ทำให้ช่วงเดียวกันของปีนี้ยอดการจำหน่ายในประเทศโตขึ้นอย่างมาก สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมพบว่าการผลิตยังอยู่ในระดับปกติใกล้เคียงกับปีที่แล้ว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๑๗:๑๖ กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๑๗:๕๕ Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๑๗:๔๗ โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๑๗:๑๒ ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๑๗:๐๐ กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๑๖:๐๐ WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๑๖:๐๔ เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๑๖:๔๗ ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๑๖:๐๒ NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ