นายณรงค์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้จัดตั้งอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ขึ้น เพื่อให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานตามภารกิจ และมีระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ว่าด้วยอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๗ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ อพม. มีศักยภาพ มีความรู้ในบทบาทหน้าที่ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมและการจัดสวัสดิการสังคมในชุมชน การถ่ายทอดเทคนิคการเฝ้าระวังเตือนภัยทางสังคม การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่กลุ่มเป้าหมาย การประสานส่งต่อ การศึกษาและวิเคราะห์ชุมชนเพื่อสร้างชุมชนจัดการตนเอง รวมทั้งการเสริมพลังและบทบาทในการพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
นายณรงค์ กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันมี อพม. ทั่วประเทศจำนวน ๑๘๑,๑๔๗ คน เฉลี่ยทุกหมู่บ้านจะมี อพม. อย่างน้อย ๑ คน สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงและทันท่วงที กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มุ่งพัฒนา อพม. ให้มีศักยภาพในการทำงานอย่างมีเอกภาพ เพราะ อพม. คือผู้มีจิตอาสาเป็นพลังสำคัญในการดำเนินงานพัฒนาสังคม โดยบูรณาการแผนงานของทุกกรมฯ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เพื่อลดความซ้ำซ้อน และส่งเสริมให้ อพม. แสดงศักยภาพมีบทบาทที่ชัดเจนในการทำงานด้านพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เพราะ อพม. คือผู้เข้าใจในบริบทของสังคม ซึ่งในปี ๒๕๕๙ ได้กำหนดนโยบายการพัฒนา อพม. ตามหลักการ Move ๕-๕-๓ SMART ประกอบด้วย ๕ Activity คือ ชี้เป้า เฝ้าระวัง สร้างเสริมการมีส่วนร่วมจัดสวัสดิการชุมชน และร่วมพัฒนาสังคม ๕ Process คือ เตรียมพร้อมปฏิบัติงานจัดการข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย ประสานความช่วยเหลือส่งต่อให้เจ้าภาพหลักและเผยแพร่ผลงานให้ประจักษ์ และ ๓ Methods คือ ดำเนินการโดย อพม. ร่วมมือกับเครือข่าย และประสานความร่วมมือ
"สำหรับกิจกรรมในวันนี้ ประกอบด้วย การประกาศเจตนารมณ์ของ อพม. นำโดย นางสุระภีร์ วิเศษคุปต์ ประธาน อพม. กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ อพม. จาก ๕๐ เขตกรุงเทพมหานคร และเครือข่ายจำนวน ๕๕๐ คน การส่งมอบผลสำรวจกลุ่มเป้าหมาย (Case) ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการให้ความช่วยเหลือ การพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างทักษะทางสังคมอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ได้จัดให้มีนิทรรศการและนำเสนอผลงานของ อพม. เพื่อเสริมสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพัฒนาสังคมระดับโซน การสร้างกลไกและกำลังสำคัญในพื้นที่ชุมชนเมืองของกรุงเทพมหานคร กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เชื่อมั่นว่าการพัฒนา อพม. ให้มีศักยภาพในการทำงานอย่างมีเอกภาพ โดยบูรณาการแผนงานของทุกกรมฯ จะเป็นการลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ สามารถขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติได้อย่าง มีประสิทธิภาพ ผ่านกลไกประชารัฐที่เข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม พัฒนาสังคมร่วมกันอย่างยั่งยืน" นายณรงค์ กล่าวในตอนท้าย