รัฐมนตรีเกษตรฯ ลงพื้นที่พิษณุโลก เร่งรัดทุกหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาที่ประสบปัญหาภาวะภัยแล้ง พร้อมเยี่ยมชมพื้นที่แปลงใหญ่ผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้ต้นแบบ

พฤหัส ๐๗ มกราคม ๒๐๑๖ ๑๕:๐๑
วันนี้ (7 มกราคม 2559) พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย พลเอก ประสาท สุขเกษตร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายอยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน และนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง ปี 2558/59 และติดตามความคืบหน้ามาตรการส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิตละเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน ณ จังหวัดพิษณุโลก โดยมีนายชูชาติ กีฬาแปง ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวต้อนรับ

โดยในเวลา 08.30 น. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/59 ณ อบต.บ้านกร่าง อ.เมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งตามโครงการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในฤดูแล้งโดยส่งมอบพันธุ์สัตว์พันธุ์พืช ให้แก่ผู้แทนเกษตรกร รวม 3 กลุ่ม ได้แก่ 1 กลุ่มเกษตรกรด้านปศุสัตว์รวม 38 ราย แบ่งเป็น ไก่พื้นเมือง 20 ราย, เป็ดเทศ 13 ราย, ไก่ไข่ 5 ราย 2. เกษตรกรด้านพืช รวม 8 ราย 3.เกษตรกรด้านประมง รวม 6 ราย

ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ภาคการเกษตรประสบกับวิกฤตฝนตกน้อยกว่าปีที่ผ่านมามาก ทำให้ปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนหลัก เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิตต์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกโดยเฉพาะกระทบกับการทำนาปรังของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เฝ้าระวัง ติดตาม และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรมาโดยตลอด รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อนถึง 8 มาตรการ 25 โครงการ โดย 1 ใน 8มาตรการที่สำคัญ คือ มาตรการส่งเสริม ความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน ซึ่งรัฐบาลได้จัดงบประมาณช่วยเหลือ 971,978,936 บาท ภายใต้โครงการ 4 โครงการ ได้แก่โครงการสร้างรายได้จากพืชทดแทนนาปรังโครงการสร้างรายได้จากปศุสัตว์ในฤดูแล้ง โครงการสร้างรายได้จากประมงในฤดูแล้ง และโครงการปรับปรุง และพัฒนาเพื่อความอุดมสมบรูณ์ของดิน โดยมีเกษตรกรที่ลงทะเบียนขอความช่วยเหลือ รวม 385,937 ครัวเรือนเป็นการขอรับการสนับสนุนพันธุ์พืชใช้น้ำน้อยอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว เห็ดถุง และอื่นๆ คิดเป็น 43%, เลือกเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ เลี้ยงกบ ปลาดุก คิดเป็น 20%, เลี้ยงปศุสัตว์จำนวน 155,694 ครัวเรือน คิดเป็น 40% สำหรับด้านปศุสัตว์รัฐบาลสนับสนุนสัตว์ปีก 1,933,100 ตัวใน 6 ชนิด สัตว์ได้แก่ ไก่พื้นเมือง ไก่พื้นเมืองลูกผสม ไก่ไข่ ไก่เพศผู้ เป็ดเทศ และเป็ดไข่ สำหรับ ไก่ไข่สาวพร้อมไข่และเป็ดสาวพร้อมไข่สนับสนุนครัวเรือนละ 10 ตัว สัตว์ปีกอื่นๆ ครัวเรือนละ 20 ตัว พร้อมอาหารสัตว์และปัจจัยการผลิต ช่วยเหลือหญ้าแห้งอัดฟ่อน ท่อนพันธุ์เนเปียร์ และอาหาร TMR ในสัตว์ใหญ่

ดังนั้น มาตรการช่วยเหลือดังกล่าวจะช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร สร้างรายได้ ลดรายจ่ายในครัวเรือน ในช่วงวิกฤติน้ำน้อย เช่น ปลูกข้าวโพด ถั่วเขียวสร้างรายได้ เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ไว้บริโภคเนื้อและไข่ในช่วงวิกฤติน้ำน้อยจนถึงเดือนเมษายน 2559 พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ทั้งหลายที่รับไปขอให้เกษตรกรไปเลี้ยงดูขยายพันธุ์ให้เกิดผล หากประสบปัญหาหรือข้อสงสัยขอให้สอบถามได้ที่หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทุกแห่งทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ หรือไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร รวม 882 ศูนย์ทั่วประเทศ

หลังจากนั้นรัฐมนตรีเกษตรฯ พร้อมคณะได้ลงพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงไก่พื้นเมืองบึงกอกที่ประสบผลสำเร็จจากการสนับสนุนไก่พื้นเมืองเพื่อช่วยเหลือภัยแล้งในรอบที่แล้วและสามารถต่อยอดขยายผลสร้างรายได้ ซึ่งมีเกษตรกรจำนวน 15 รายได้รับการช่วยเหลือจากการขอความร่วมมือ ลดการใช้น้ำทำนาปรังเป็นไก่พื้นเมืองรายละ 30 ตัว รวม 450 ตัว เมื่อวันที่28 มกราคม 2558 และได้มีการผลิตขยายพันธุ์สร้างรายได้แก่กลุ่มฯ มีการช่วยเหลือเกื้อกูลด้านการเลี้ยงและการป้องกันโรคสัตว์ในกลุ่ม การประยุกต์ใช้วัตถุดิบเช่น หยวกกล้วยหมักเป็นอาหารสัตว์การประดิษฐ์เครื่องฟักไข่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการช่วยเหลือฝึกอบรมโดยหน่วยงานกรมปศุสัตว์ในพื้นที่ทำให้มีกลุ่มรายได้จากการเลี้ยงไก่เมื่อสิ้นปี 2558 รวม 496,000 บาท สมาชิกกลุ่ม ทุกคนมีรายได้เสริม ขณะเดียวกันก็ประกอบอาชีพ อื่นเสริม รายได้ด้วยเช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อย เลี้ยงโคเนื้อ เลี้ยงสุกร

จากนั้นได้รัฐมนตรีเกษตรฯ พร้อมคณะเดินทางต่อไปยังจุดศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และโครงการส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ ต.ชัยนาม อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร กระจายอยู่ทั่วประเทศ 882ศูนย์ (อำเภอละ 1 ศูนย์) และจากการมาตรวจเยี่ยมการดำเนินการของศูนย์เรียนรู้ที่อำเภอวังทองแห่งนี้ เป็น 1 ในจำนวน 9 ศูนย์ จังหวัดพิษณุโลก พบว่า ศูนย์แห่งนี้ตั้งขึ้นในจุดที่มีการดำเนินงานแปลงใหญ่เรื่องมะม่วง ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ ทำการคัดเลือกมาแล้วว่ามีศักยภาพในการเป็นแหล่งให้เกษตรกรเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันของเกษตร และเป็นจุดที่หน่วยงานในพื้นที่ทั้งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับหน่วยงานภาคีใช้เป็นจุดบูรณาการการทำงาน คือ 1. การถ่ายทอดความรู้ ให้บริการข่าวสารวิชาการ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 2. บริการด้านการเกษตร และรับเรื่องร้องเรียน (ตรวจวิเคราะห์ดิน การทำบัญชีครัวเรือน เป็นต้น) 3. เป็นแหล่งฝีกงาน แหล่งการวิจัยและขยายผล จะมีการเรียนรู้ในเรื่องการผลิตสินค้าเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง สอดคล้องกับบริบทของ ชุมชน โดยจัดระบบให้มีการเรียนรู้ผ่านองค์ประกอบ 4 ด้าน คือ 1,1 ฐานการเรียนรู้ 1.2 แปลงเรียนรู้ 1.3 หลักสูตรการเรียนรู้ 1.4 เกษตรกรต้นแบบ

ขณะเดียวกัน ระบบนี้จะมีทีมที่เกิดจาการบูรณาการจากภาครัฐที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงภาคเอกชนได้เข้ามาช่วยการดูแลให้คำแนะนำ ซึ่งจากที่ได้ดำเนินการมา 1 ฤดูกาลที่เดิมมีเกษตรกรรวมกันผลิต 50 ราย ตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 79 ราย เนื่องจากการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้ของตำบลชัยนาม อำเภอวังทอง ในรูปกลุ่มจะได้รับความเชื่อถือจากตลาดผู้รับซื้อ โดยเฉพาะตลาดส่งออกที่ยังมีความต้องการอีกมาก มีการทำ MOU กับผู้รับซื้อเพื่อส่งออก โดยสามารผลิตสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานที่ผู้ซื้อกำหนดให้ได้ราคาสูง เกษตรกรจึงมีแรงจูงใจในการรวมกลุ่มผลิตในรูปแบบแปลงใหญ่ ถือว่าเป็นการผลิตแบบมีตลาดรองรับชัดเจน ระบบแปลงใหญ่สามารถนำไปใช้ได้กับการผลิตสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ ในพื้นที่อื่นได้เช่นกัน ซึ่งจังหวัดพิษณุโลกมีสินค้าเกษตรที่นำระบบแปลงใหญ่ไปใช้ขณะนี้ คือ สินค้าข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชผัก และกระบือ ก็ถือว่าอยู่ช่วงการเริ่มต้น จะเห็นได้ว่าจุดเดียวกันนี้สามารถนำงานที่สำคัญมาส่งเสริมได้หลายเรื่องเพราะมีความเชื่อมโยงกัน ทั้งเรื่องศูนย์เรียนรู้เรื่องแปลงใหญ่ เรื่อง Zoningและเรื่องการลดต้นทุนการผลิต และในอนาคตต่อไปจุดนี้ก็อาจต่อ ยอดไปในเรื่องของเกษตรอินทรีย์เข้าไปซึ่งก็จะทำให้เพิ่มมูลค่าสินค้าได้อีก รวมไปถึงการน เรื่องธนาคารสินค้าเกษตร มาดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรต่อไปในอนาคตด้วย

ต่อมาในเวลา 15.35 น. รัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรฯ ได้ตรวจเยี่ยมศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพิษณุโลก ซึ่งในฤดูกาลเพาะปลูกข้าวนาปีที่กำลังจะมาถึงนี้ กระทรวงเกษตรฯ มีแผนการผลิตเมล็ดพันธุ์ปี 2559 ไว้รองรับความต้องการจำนวน 78,000 ตัน ซึ่งเป็นการปรับลดกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกรที่ลดพื้นที่การเพาะปลูกข้าวจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยแยกเป็นกลุ่มข้าวเจ้าไม่ไวแสง จำนวน 37,250 ตัน ได้แก่ พันธุ์ชัยนาท 1 กข29 ปทุมธานี 1 กข31 พิษณุโลก 2 สุพรรณบุรี 1 กข41 กข47 กข49 กข55 กข57 กข61 กลุ่มข้าวเจ้าไวแสง จำนวน 550 ตัน ได้แก่ พันธุ์เฉี้ยงพัทลุง เล็บนกปัตตานี สังข์หยดพัทลุง กลุ่มข้าวเหนียว จำนวน 11,900 ตัน ได้แก่ พันธุ์สันป่าตอง 1 กข12 กข6 และกลุ่มข้าวหอมมะลิ จำนวน 28,300 ตัน ได้แก่ พันธุ์ กข15 และขาวดอกมะลิ 105

ขณะเดียวกัน เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงเมล็ดข้าวคุณภาพดี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเพิ่มเติมในพื้นที่ที่ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าว และยังไม่มีศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวในพื้นที่นั้นๆ จำนวน 15 แห่ง เพื่อเพิ่มกำลังผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวศูนย์ละ 4,000 ตันต่อปีรวมกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจำนวน 60,000 ตันต่อปี โดยระยะที่ 1 เริ่มในปีงบประมาณ 2559 จำนวน 5 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครนายกศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวบุรีรัมย์ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวศรีสะเกษศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอำนาจเจริญ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวบึงกาฬ ในขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับพื้นที่ เพื่อเตรียมรับการก่อสร้างในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และมีกำหนดแล้วเสร็จกลางปี 2560 ระยะที่ 2 ปีงบประมาณ 2560-2561 มีโครงการก่อสร้างศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอีก 10 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพิจิตร ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเพชรบูรณ์ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวมหาสารคาม ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชัยภูมิ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสระแก้ว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุพรรณบุรี ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเชียงราย ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครพนม ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครปฐม และศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวยโสธร

สำหรับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพิษณุโลก เป็นหนึ่งใน 23 ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวของกรมการข้าวที่ทำหน้าที่หลักในการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นพันธุ์ขยายและชั้นพันธุ์จำหน่าย เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติในปีงบประมาณ 2558 ที่ผ่านมาศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพิษณุโลกมีเป้าหมายในการผลิตเมล็ดพันธุ์ดี จำนวน 3,400 ตัน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๔๗ เอ. เจ. พลาสท์ คว้า 2 รางวัลใหญ่ จาก SET Awards 2024 และได้รับการประเมิน CGR ดีเลิศ ระดับ 5 ดาว
๑๖:๑๓ เปิดมาตรการ พักหนี้ ลดดอกเบี้ย ช่วยเหลือ SMEs ถูกน้ำท่วมในงาน มันนี่ เอ็กซ์โป 2024 เชียงใหม่
๑๖:๓๙ หน้าหนาวมาเยือน! กรมอนามัยเตือนดูแลสุขภาพให้พร้อม เด็กเล็ก-ผู้สูงอายุเสี่ยงเจ็บป่วยง่าย
๑๖:๕๗ เปิดรันเวย์อวดผลงานไอเดียสร้างสรรค์ของ 5 ผู้ชนะรางวัลทุนการศึกษา จากโครงการ Jaspal Group Scholarship Program
๑๖:๐๘ กิฟฟารีน แนะนำไอเทมเด็ด กิฟฟารีน เอช เอ็ม บี พลัส วิตามินดี 3 สำหรับช่วยดูแลมวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
๑๕:๐๑ ไขข้อสงสัย สินเชื่อรถแลกเงินคืออะไร
๑๕:๓๘ ซื้อมอเตอร์ไซค์ ออกรถใหม่ มีขั้นตอนอย่างไร ต้องเตรียมอะไรบ้าง
๑๕:๐๕ ยางขอบ 17 ยี่ห้อไหนดีที่ขับขี่สนุก และยังคงนุ่มสบาย
๑๔:๕๖ heygoody คว้าแชมป์จากเวที Thailand Influencer Awards 2024 ตอกย้ำความเข้าใจลูกค้า Introvert
๑๔:๐๓ เมืองไทยประกันชีวิต คว้า 4 รางวัลใหญ่ระดับสากล ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล และเป็นองค์กรสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการ