โดยผลงานที่ร่วมนำเสนอในปีนี้ล้วนน่าสนใจและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในด้านความก้าวหน้าทางวิชาการ ที่สามารถนำไปต่อยอดและพัฒนา เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพ การคุ้มครองผู้บริโภคและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น "กับดัก Leo-Trap(ลีโอแทรป)"นวัตกรรมการควบคุมลูกน้ำยุงลายพาหะโรคไข้เลือดออก ไข้ชิคุนกุนยาและไข้ซิก้า ซึ่งคิดค้นและพัฒนาโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขที่ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการจดสิทธิบัตร ผลงานการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพเรื่อง "การวิเคราะห์สารตกค้างยาฆ่าแมลงในพริกแห้งนำเข้า"โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 จ.ชลบุรี ที่พบว่าจากตัวอย่างพริกแห้งที่ส่งตรวจ 80 ตัวอย่าง ตรวจพบยาฆ่าแมลงมากถึง 62 ตัวอย่างคิดเป็น ร้อยละ77.5 ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังมีการมอบรางวัล DMSc Awards 2559 เพื่อเชิดชูผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานดีเยี่ยมทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยแบ่งเป็นผลงานเรื่อง "การศึกษาวิจัยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบบูรณาการในประเทศไทย"โดยรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชายชาญ โพธิรัตน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ชนะเลิศประเภทการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลงานเรื่อง "แนวปฏิบัติการล้างไตทางช่องท้อง" โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์เถลิงศักดิ์ กาญจนบุษย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ซึ่งชนะเลิศประเภทหนังสือ/ตำราทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และผลงานเรื่อง "กรรมวิธีการตรวจหาและจำแนกเชื้อมาลาเรียในตัวอย่างเลือดด้วยเทคนิคแลมป์ร่วมกับเทคนิคแอลเอฟดี" โดย ดร.สุกัญญา ยงเกียรติตระกูล สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ชนะเลิศประเภทการพัฒนาคุณภาพการบริการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์
สำหรับรางวัลรองชนะเลิศ 3 รางวัล คือ ผลงานวิจัยเรื่อง "การวิจัยครบวงจรเพื่อพัฒนากวาวเครือขาวเป็นยารักษาโรคกระดูกพรุน"โดย ศาสตราจารย์ ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานวิจัย เรื่อง "Plasmodium serine hydroxymethyltransferase for anti-malarial drug development" โดย ดร.อุบลศรี เลิศสกุลพานิช สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ผลงาน เรื่อง "โรคของไส้ตรงและทวารหนักที่พบบ่อย" โดย รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ วรุตม์ โล่สิริวัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่สำคัญซึ่งเป็นไฮไลท์ของงานปีนี้คือ การมอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ให้แก่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญเป็นอย่างสูงด้านโรคติดเชื้อโดยเป็นผู้ริเริ่มและดำเนินการศึกษาวิจัยโรคเอดส์ทางห้องปฏิบัติการกว่า 20 ปี ทำให้เกิดความร่วมมือกับนานาชาติในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคเอดส์ และโรคตับอักเสบ และได้ร่วมศึกษาวิจัยไวรัสตับอักเสบทางห้องปฏิบัติการ จนส่งผลให้มีวัคซีนป้องกันไวรัส ตับอักเสบเอและบี ใช้ในประเทศไทย เป็นต้น