เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559 นายราเมศ พรหมเย็น ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สบร. หรือ OKMD ลงนามความร่วมมือกับ นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เพื่อพัฒนาสมองเด็กไทยตามแนวคิด"ครอบครัวอบอุ่นเลี้ยงลูกตามรอยพระยุคลบาท"โดยจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (Brain-based Learning หรือ BBL) ให้กับเด็กในศูนย์เด็กเล็กและเด็กที่มารับบริการ ณ สถานบริการสาธารณสุขทุกระดับ โดยมีพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี แพทย์หญิงมยุรา กุสุมภ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงมยุรา กุสุมภ์ และดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานกรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ร่วมเป็นสักขีพยาน
พลอากาศเอกประจิน กล่าวว่า แนวคิดการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในยุคศตวรรษที่ 21 ดังนั้นรัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้วยตระหนักว่าเด็กเป็นอนาคตที่สำคัญที่สุดของชาติ และเชื่อว่าแต่ละบุคคลมีศักยภาพที่แตกต่างกัน หากได้รับการเรียนรู้โดยเน้นการจัดการเรียนรู้และพัฒนาสมอง เพื่อให้เกิดศักยภาพสูงสุดในการเรียนรู้ของแต่ละช่วงวัย และดึงศักยภาพของแต่ละบุคคลออกมาใช้ในการเรียน การทำงาน การอยู่ร่วมกันในสังคม และให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า "จากการศึกษาวิจัยตามหลัก BBL พบว่าการดูแลเด็กอย่างเหมาะสมในช่วงอายุ 0-5 ปี มีความสำคัญที่สุดต่อการพัฒนาสมอง และส่งผลต่อการเจริญเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ในนามของรัฐบาล ขอน้อมนำแนวคิดการเลี้ยงดูพระโอรสและพระธิดาของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรี นครินทราบรมราชชนนี ผ่านการเล่นตามรอยพระยุคลบาท เพราะว่าการเล่นทำให้มีความสุข สนุก เพลิดเพลิน เกิดการเรียนรู้ในความสำเร็จและการแก้ปัญหา สามารถเพิ่มประสบการณ์ เกิดความเชื่อมั่น และภูมิใจในตนเอง อันเป็นที่มาของพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่เป็นประโยชน์คณานับประการต่อการพัฒนาประเทศและความร่มเย็นเป็นสุขของเหล่าพสกนิกรชาวไทย"
"โดยความร่วมมือของ OKMD และกรมอนามัย เพื่อพัฒนาสมองตั้งแต่ในครรภ์จนถึง 5 ปี ในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้เด็กได้เติบโตและเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ ภายใต้กรอบแนวคิด ครอบครัวอบอุ่นเลี้ยงลูกตามรอยพระยุคลบาท เพื่อให้เด็กมีสุขภาพดี สมองดี อารมณ์ดี เตรียมพร้อมเรียนรู้สู่โลกกว้างต่อไป และหวังว่าหากมีการขยายเครือข่ายความร่วมมือในการนำ BBL ไปใช้ในทุกช่วงวัย โดยมีการนำทฤษฎีต่างๆ มาประยุกต์ใช้ นำไปสู่การปฏิบัติจริง ผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งจากการเรียนการสอน การเลี้ยงดูของพ่อแม่ และการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งระบบจะช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็กไทย ให้คิดได้ วิเคราะห์เป็น มีความสามารถในการเรียนรู้ การทำงาน การใช้ชีวิต และครบถ้วนในทุกทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 นั้น จะทำให้มีคนเก่ง คนดี เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกมากมาย" พลอากาศเอกประจิน กล่าว
ด้านแพทย์หญิงมยุรา กุสุมภ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์พัฒนาการเด็กปฐมวัยของกรมอนามัย ปี 2557 พบเด็กปฐมวัยมีพัฒนาการสงสัยล่าช้า ร้อยละ 27 ซึ่งเด็กเหล่านี้หากไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสม เมื่อเข้าสู่วัยเรียน เด็กจะมีโอกาสมีปัญหาด้านการเรียน สมาธิสั้น และเรียนหนังสือไม่ได้ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแผนบูรณาการการพัฒนาศักยภาพกลุ่มสตรีและเด็ก ซึ่งมีเป้าหมายให้เด็กไทย แข็งแรง เก่ง ดี มีวินัยไฝ่เรียนรู้ โดยให้ความสำคัญกับการเตรียมพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูเด็ก ให้มีความรู้และทักษะในการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย ให้ได้รับความรู้ตามกระบวนการโรงเรียนพ่อแม่ที่เน้นพัฒนาสมองเด็ก ตามแนวคิด "ชวนลูกเล่นตามรอยพระยุคลบาท" โดยจัดให้มีมุมเล่นตามรอยพระยุคลบาท ณ คลินิกสุขภาพเด็กดีในสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง และลานเล่นตามรอยพระยุคลบาทในศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สบร. และกรมอนามัยเช่นกัน
ด้าน ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานกรรมการบริหาร OKMD กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว รากฐานที่สำคัญของการพัฒนาทรัพยากรบุคคล คือครอบครัว ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการช่วยพัฒนาหล่อหลอม ดูแล อบรมเลี้ยงดูสมาชิกของครอบครัวในทุกช่วงวัยให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ดังนั้น เด็กไทยของเราทุกคนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการพัฒนาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ทั้งนี้เมื่อปีที่ผ่านมา OKMD ได้นำแนวคิด BBL ไปใช้ยังศูนย์อนามัยที่ 1 กรมอนามัย ในการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องสมองกับการเรียนรู้ มีทักษะกระบวนการในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และผู้เลี้ยงดูเด็กในช่วงตั้งแต่ในครรภ์มารดา - 3 ปีแรก ให้สามารถนำความรู้ และทักษะไปใช้ในการอบรม ดูแลเลี้ยงดูเด็กของตนได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมตามโครงสร้างการทำงานของสมองและพัฒนาการตามช่วงวัย"
ดร.คณิศ กล่าวต่อไปว่า "ความร่วมมือในครั้งนึ้จึงเป็นการขยายแนวคิดในการหนุนเสริมการสร้างความรู้ และทักษะกระบวนการ BBL ให้กับงานอนามัยแม่และเด็กโดยการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรสาธารณสุข ภายใต้โครงการสร้างพ่อแม่และลูกคุณภาพ ในสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนระดับปฐมวัยสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และเครือข่ายการดำเนินงานของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข นอกจากบุคลากรสาธารณสุขระดับเขตและผู้ปฏิบัติในพื้นที่มีความรู้ ความเข้าใจสามารถนำความรู้ที่ได้ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพแล้ว พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ครอบครัว และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลเด็กตั้งแต่ในครรภ์มารดา - 5 ปี จะตระหนักถึงความสำคัญในการเลี้ยงดูเด็ก และนำความรู้ ทักษะไปใช้ในการเลี้ยงดูเด็กได้อีกด้วย"
"ในปีงบประมาณ 2559 OKMD มุ่งเน้นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนงาน BBL ใน 4 ยุทธศาสตร์ได้แก่ 1) การกำหนดคำจำกัดความ สาระ และขอบข่ายการเรียนรู้ตามหลัก BBL ทุกช่วงวัย 2) การสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานทางวิชาการ และหน่วยปฏิบัติงานที่มีศักยภาพ 3) การหนุนเสริมหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้นำการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมองไปประยุกต์ใช้ และ 4) การแสวงหาแนวร่วมจากสาธารณชนผ่านช่องทางสื่อสารสาธารณะ นำไปสู่ความร่วมมือกับภาคีที่หลากหลาย จึงทำให้เกิดความร่วมมือในครั้งนี้ขึ้น โดยเชื่อมั่นว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยกันพัฒนาเด็กตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งหากทุกหน่วยงาน ในทุกระดับภาคปฏิบัติ มีความรู้ ความเข้าใจในการจัดการเรียนรู้และทักษะตาม BBL แล้ว ก็สามารถนำความรู้ไปสู่การพัฒนาทักษะกระบวนการถ่ายทอดความรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายในความดูแลรับผิดชอบได้อย่างมีคุณภาพ" ประธานกรรมการบริหาร OKMD กล่าวทิ้งท้าย
ผู้สนใจติดตามรายละเอียดได้ที่ เว็บไซต์ www.okmd.or.th และ www.facebook.com/BrainbasedLearning.BBL