DAAT เผยข้อมูลทิศทางโฆษณาดิจิทัล ปี 2559 ยังโตต่อเนื่อง ขยับใกล้หนึ่งหมื่นล้านบาท

พฤหัส ๓๑ มีนาคม ๒๐๑๖ ๑๖:๕๙
สมาคมโฆษณาดิจิทัล(ประเทศไทย) ร่วมกับ ทีเอ็นเอส บริษัทวิจัยชั้นนำเผยผลสำรวจมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลของปี 2558-2559โดยผลการสำรวจพบว่า งบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลของปี 2558 มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยมูลค่ารวมกว่า 8,084 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อน 32% และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 23% ในปี 2559

การโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลยังคงได้รับความนิยมจากลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลสำรวจจาก 23 ดิจิทัลเอเยนซี่ชั้นนำของเมืองไทย ระบุว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้งบโฆษณากับสื่อดิจิทัลมากที่สุดในปี2558 อันดับหนึ่งยังคงเป็นกลุ่มสื่อสารที่ใช้งบกว่า 974 ล้านบาท ตามด้วยกลุ่มยานยนต์ 918 ล้านบาท กลุ่มเครื่องประทินผิว 595 ล้านบาท กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม567 ล้านบาท และอันดับ 5 คือกลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผม 513 ล้านบาท ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลเพิ่มในมูลค่าสูงที่สุดเทียบจากปี 2557 คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ซึ่งใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 400 ล้านบาท

นรสิทธ์ สิทธิเวชวิจิตร กรรมการสมาคมโฆษณาดิจิทัล ชี้แจงว่า สัดส่วนการใช้งบโฆษณาในปลายปี 2558 ยังคงมีการใช้งานเพิ่มขึ้น โดยในกลุ่มธุรกิจสื่อสารซึ่งเป็นผู้ใช้งานโฆษณาดิจิทัลสูงสุดได้มีการปรับเลื่อนแผนการใช้งบประมาณบางส่วนมาใช้ในปี 2559 หลังจากการประมูลคลื่นความถี่ซึ่งใช้ในการประกอบการซึ่งทำให้คาดว่าจะทำให้ กลุ่มสื่อสารยังยืนเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายในโฆษณาดิจิทัลมากสุดในปี 2559 ต่อไป ส่วนในแง่ของ รูปแบบการโฆษณา Facebook และ Google ยังคงเป็นสื่อที่ผู้ลงโฆษณาใช้มากที่สุดและยังมีการเติบโตในปี 2558ในขณะที่LINE และเว็บไซต์ชั้นนำของไทยเช่น Sanook และ Mthaiต่างก็ปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดการแข่งขันและคาดว่าจะมีการใช้จ่าย เพิ่มมากขึ้นอย่างน่าสนใจในปี 2559 นี้

สำหรับปี 2559 คาดการณ์ว่าแนวโน้มที่เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลจะปรับตัวสูงขึ้นอีก 23% (คิดเป็นมูลค่าราว 9,927 ล้านบาท) โดยจะยังคงอยู่ภายใต้อิทธิพลของอุตสาหกรรมหลักที่มีการใช้จ่ายงบโฆษณาดิจิทัลในปีที่ผ่านมา นำโดยกลุ่มสื่อสารที่มีเกณฑ์ใช้งบ 1,304 ล้านบาท กลุ่มยานยนต์1,228 ล้านบาท กลุ่มเครื่องประทินผิว 691 ล้านบาท กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม653 ล้านบาท และกลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม 592 ล้านบาท

ในส่วนของผลสำรวจตามประเภทของการใช้สื่อออนไลน์พบว่า Facebook เป็นรูปแบบของสื่อโฆษณาที่ครองส่วนแบ่งงบโฆษณาดิจิทัลสูงสุดในปี 2558คือ 24% ของยอดการใช้จ่ายทั้งหมดซึ่งเติบโตแบบก้าวกระโดดถึง 95% จากปี 2557 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องประทินผิว เป็นกลุ่มที่มียอดการใช้จ่ายผ่านช่องทางFacebook เพิ่มขึ้นสูงสุดจากปี 2557 รูปแบบของสื่อโฆษณาที่มีสัดส่วนยอดใช้จ่ายรองลงมาคือ Display มียอดการใช้ 21 % และตามติดด้วย YouTube 20% โดย YouTubeเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ถึง 87% สำหรับแนวโน้มการใช้งบประมาณตามประเภทสื่อออนไลน์ของปี 2559 พบว่าเติบโตอย่างทรงตัวและมีสัดส่วนใกล้เคียงกับปี 2558

ศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ความนิยมในการบริโภคสื่อดิจิทัลของคนไทยสูงขึ้นมาก หลังจากที่เราสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้เราสามารถดูข้อมูลวิดีโอซึ่งเป็นรูปแบบเนื้อหาที่คนไทยชอบได้อย่างไม่สะดุด ทุกที่ ทุกเวลา ส่งผลให้นักการตลาดใช้สื่อดิจิทัลเป็นช่องทางในการสื่อสารโฆษณาในรูปแบบของวิดีโอนี้เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งในอดีตใช้จ่ายเงินโฆษณาในสื่อหลักเช่นทีวีเป็นส่วนมาก ในปี 2558 ที่ผ่านมา และในปี 2559 นี้ได้จัดสรรงบประมาณมาเพื่อนำเสนอโฆษณาผ่านทางสื่อดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างมากกว่าปีก่อนๆ ในทุกๆ แพลตฟอร์ม

ดร.อาภาภัทร บุญรอด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มคันตาร์ ประเทศไทย กล่าวว่าผลสำรวจเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลในปีนี้ได้จัดทำขึ้นในมิติที่หลากหลายและแตกต่างไปจากปีที่ผ่านมา จากรูปแบบการทำวิจัยทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพควบคู่กันเพื่อให้สามารถสะท้อนภาพเชิงลึกได้ดียิ่งขึ้น อาทิ การลงรายละเอียดในข้อมูลเกี่ยวกับโซเชียล มีเดีย แพลทฟอร์ม อย่าง Facebook, Instagram, YouTube และ Twitter โดยเฉพาะ หรือ ข้อมูลเฉพาะในลักษณะของรูปแบบการซื้อแบบ Direct, Ad Network หรือ Programmatic เป็นต้น ทั้งในรูปแบบของรายงานและข้อมูลดิบโดยทาง ทีเอ็นเอส ประเทศไทยได้มีการพัฒนาเครื่องมือในการสำรวจเชิงปริมาณให้มีความแม่นยำ ถูกต้อง และรวดเร็วมากขึ้น นอกเหนือจากเครื่องมือดังกล่าว การสำรวจในครั้งนี้ ทีเอ็นเอส ประเทศไทยได้ดำเนินการจัด Workshop ให้ผู้ประกอบการธุรกิจโฆษณาดิจิทัล ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และทำความเข้าใจวิธีการเข้าร่วมการสำรวจผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งเป็นระบบที่สามารถรักษาความลับของข้อมูลในระดับสูงสุด อีกทั้งยังมีระบบการตรวจทานข้อมูล (Information Verification System) ก่อนส่งแบบสำรวจ ทำให้ข้อมูลมีความถูกต้องมากขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านมา โดยเล็งเห็นว่าข้อมูลงบประมาณและการใช้จ่ายด้านสื่อต่างๆ เป็นข้อมูลที่สำคัญต่อนักการตลาด และนักโฆษณาประชาสัมพันธ์ ในการตัดสินใจทางธุรกิจ ซึ่งในปัจจุบันสื่อดิจิทัลมีบทบาทต่อผู้บริโภคในการสร้างการรับรู้ต่อตราสินค้า/บริการ และต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า/บริการเป็นอย่างมาก โดยในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ภายหลังการเข้ามา และได้รับความนิยมของสมาร์ทโฟนในประเทศไทยการบริโภคสื่อ หลักของผู้บริโภคได้แบ่งสัดส่วนการบริโภคให้กับสื่อดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ในขณะที่ข้อมูลการใช้จ่ายและงบประมาณด้านสื่อดิจิทัลมีอยู่อย่างจำกัด และกระจัดกระจายในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้สนใจรายงานฉบับเต็มพร้อมด้วยข้อมูลดิบสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.tnsglobal.com/thailand-digital-ad-spend-report

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO