ศาลปกครองประทับรับฟ้องคดี ขสมก.ฉีกสัญญาเมล์เอ็นจีวี JVCC ชี้ก่อให้เกิดความเสียหายกว่า 1.5 พันล้าน

ศุกร์ ๐๑ เมษายน ๒๐๑๖ ๑๒:๐๒
กลุ่มกิจการร่วมค้า เจวีซีซี (JVCC) เผยศาลปกครองกลางมีคำสั่งรับคำฟ้อง คดี ขสมก. ฉีกสัญญาจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน แล้วเมื่อ 17 มีนาคม 2559 ระบุก่อให้เกิดความเสียหายกว่า 1,500 ล้านบาท

นายกริน ชยวิสุทธิ์ ตัวแทนจากกลุ่มกิจการร่วมค้า เจวีซีซี (JVCC) โดยบริษัท ช.ทวี ดอลลาเซียน จำกัด(มหาชน) เป็นตัวแทนฯ เปิดเผยว่า กลุ่ม JVCC ได้รับหมายจากศาลปกครองกลางว่ามีคำสั่งรับคำฟ้องเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2559 กรณีที่กลุ่มJVCC ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ประเด็นการยกเลิกสัญญาจัดซื้อรถเมล์ NGV 489 คัน แล้ว และศาลปกครองกลางได้ดำเนินการส่งสำเนาคำฟ้องไปยังผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ราย ซึ่งประกอบไปด้วย 1. ขสมก. 2. คณะกรรมการบริหารกิจการของ ขสมก. 3. ผู้อำนวยการ ขสมก. 4. กวพอ. และ 5. กระทรวงการคลัง เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีแต่ละรายยื่นคำให้การ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง โดยขณะนี้ศาลปกครองกลางยังไม่ได้มีกำหนดนัดใดๆ

อนึ่ง ตามที่กิจการร่วมค้า เจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) ได้เข้าร่วมการประกวดราคาในโครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คัน ตามประกาศองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เลขที่ 11/2558 เรื่องการซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติวงเล็บ (NGV) จำนวน 489 คัน ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (ครั้งที่ 3) ลงวันที่ 23 มีนาคม 2558 ซึ่งในการประกวดราคาดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนในการเป็นผู้เสนอราคาตาม และได้ดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนที่ประกาศดังกล่าวครบถ้วน จนผู้ฟ้องคดีได้เป็นผู้ชนะการประกวดราคา ได้มีการต่อรองราคาตามขบวนการ และตรวจร่างสัญญาซื้อฯ เพื่อเตรียมที่จะลงนามในสัญญากับ ขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ตลอดจนได้มีการวางแผนการดำเนินการต่างๆเกี่ยวกับการส่งมอบรถโดยสารให้เป็นไปตามสัญญาส่งมอบ 90 วัน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าภายหลังจากที่มีผู้เข้าร่วมประกวดราคารายหนึ่งได้ยื่นคัดค้านการประกวดราคาและได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ กวพอ. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2558 ขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) กลับมีหนังสือถึงกิจการร่วมค้า เจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) ขอยกเลิกการประกวดราคา และการลงนามในสัญญาซื้อขายรถโดยสารฯ โดยมีการกล่าวอ้างข้อสังเกตของ กวพอ. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ที่มีต่อเอกสารการประกวดราคา (TOR) ซึ่งเป็นเอกสารที่ออกโดย ขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) เองทั้งๆ ที่กวพอ. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ได้มีคำวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้เข้าร่วมประกวดราคารายที่ได้ยื่นคัดค้านว่า การประกวดราคานั้น ชอบด้วยกฎหมายเพราะอุทธรณ์ของผู้เข้าร่วมการประกวดราคาดังกล่าวนั้น ฟังไม่ขึ้น

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 กิจการร่วมค้า เจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งให้ยกเลิกการทำสัญญาของขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) แต่ขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ยังคงยืนยันที่จะยกเลิกการทำสัญญากับกิจการร่วมค้าเจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) ซึ่งกิจการร่วมค้า เจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) เห็นว่าการยกเลิกการลงนามในสัญญาดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฏหมาย เนื่องจากกิจการร่วมค้า เจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) เป็นผู้ที่ได้ดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนของการประกวดอย่างถูกต้องทุกประการ อีกทั้งถ้าหากพิจารณาการกล่าวอ้างเหตุผลในการยกเลิกการประกวดราคาที่ขสมก.(ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ตามข้อสังเกตของ กวพอ.(ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ว่าก่อให้เกิดความไม่ชัดเจนและทำให้การเสนอราคาของผู้เสนอราคาไม่อยู่บนมาตรฐานเดียวกันนั้น กิจการร่วมค้า เจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) เห็นว่าเป็น ข้อกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะข้อกำหนดดังกล่าวเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ต้องการจัดหารถโดยสารใช้ก๊าซธรรมชาติ NGV จำนวน 489 คันเป็นการเร่งด่วนจึงเปิดโอกาสให้มีการจัดหารถโดยสารได้จากทั้งในและต่างประเทศ โดยไม่ได้กระทบกระเทือนถึงมาตรฐานของรถโดยสาร ทั้งนี้ดังจะได้เห็นจากเอกสารประกวดราคาข้อ 3.2 (7) ที่ได้กำหนดว่าหากนำเข้ารถโดยสารจากต่างประเทศ ต้องได้รับมาตรฐาน ISO แต่หากเป็นโรงงานในประเทศต้องได้รับใบรับรองมาตรฐาน ISO และได้รับอนุญาตจากกระทรวง อุตสาหกรรม ดังนั้นไม่ว่าการประกอบรถโดยสารจะเกิดขึ้นในประเทศหรือต่างประเทศ เอกสารประกวดราคาก็ได้กำหนดมาตรฐานในการตรวจสอบรองรับไว้แล้ว ยิ่งไปกว่านั้นการพิจารณาข้อเสนอเรื่องราคาดังกล่าว เป็นคนละส่วนกับการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคซึ่งปรากฎอยู่ในเอกสารประกวดราคา ข้อ 6.3 ดังนั้นเมื่อขั้นตอนการเสนอราคาและขั้นตอนการเสนอข้อเสนอทางเทคนิคอยู่คนละส่วนกัน การนำข้อพิจารณาเรื่อง แหล่งการจัดหารถโดยสารว่าประกอบจากโรงงานต่างประเทศหรือในประเทศ ซึ่งเป็นข้อเสนอทางเทคนิค มาพิจารณาปะปนกับขั้นตอนการเสนอราคาที่มีหลักพิจารณาเพียงแค่เป็นการเสนอราคาที่ต่ำที่สุด และตั้งข้อสังเกตว่า กรณีดังกล่าวทำให้การเสนอราคาของผู้เสนอราคาไม่อยู่บนมาตรฐานเดียวกันนั้น จึงเป็นการตั้งข้อสังเกตที่ปราศจากเหตุผลอันอาจรับฟังได้

นอกจากนี้ ที่มีการกล่าวอ้างว่า ข้อกำหนดใน TOR ข้อ 10.4 เรื่องการรับรองความถูกต้องของเอกสารนั้นขัดต่อกฏกระทรวงฯ ข้อ 1 (4) ที่ออกตามความใน พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ที่กำหนดว่าการรับรองความถูกต้องของคำแปลเป็นภาษาไทยให้กระทำโดยสถานฑูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ แต่ TOR กำหนดว่า การรับรองเอกสารสามารถทำได้โดยสถานฑูตของประเทศนั้น ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย นั้น ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า เหตุผลดังกล่าวขัดหรือแย้งกับ พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ อย่างชัดเจน ทั้งนี้เพราะเมื่อพิจารณาบทบัญญัติในกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวแล้ว จะพบว่าวิธีการรับรองเอกสารนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งนอกจากจะรับรองโดยสถานฑูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศตามข้อ 1 (4) ดังกล่าวแล้วยังสามารถรับรองโดยสถานฑูตของประเทศนั้น ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทยตามข้อ 1 (3) ของกฎกระทรวงดังกล่าวได้ด้วยเช่นกัน กิจการร่วมค้า เจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) จึงเห็นว่าข้อสังเกตของกวพอ. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ที่ ขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) นำมากล่าวอ้างนั้น เป็นการเจาะจงบิดเบือนข้อกฎหมาย เพื่อทำให้เห็นว่า TOR ขัดต่อกฎหมาย ทั้งๆ ที่ ข้อกำหนดใน TOR ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีผู้คัดค้านและอุทธรณ์ว่าการประกวดราคาดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายไปยัง กวพอ. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) กวพอ. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) เองก็ได้ตอบข้ออุทธรณ์ของผู้คัดค้านมายัง ขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ด้วยว่าอุทธรณ์ของผู้คัดค้านรายดังกล่าวฟังไม่ขึ้น อันเป็นการแสดงให้เห็นว่า การประกวดราคาในครั้งนี้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) จึงไม่มีเหตุและไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการยกเลิกการทำสัญญาแต่อย่างใด การยกเลิกการทำสัญญาจึงเป็น การดำเนินการที่ขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2549 ที่ระบุว่าหาก กวพอ. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) พิจารณาอุทธรณ์แล้วเห็นว่าอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้นก็ให้ กวพอ. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) แจ้งให้ ขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ดำเนินการต่อไป ซึ่งหมายถึงการลงนามในสัญญากับกิจการร่วมค้า เจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) ต่อไปเท่านั้น

ทั้งนี้ เนื่องจากกิจการร่วมค้า เจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) ได้มีการดำเนินการ เพื่อจัดเตรียมส่งมอบรถโดยสารให้แก่ ขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ให้ทันภายใน 90 วันตามสัญญาแล้ว หากมีการยกเลิกการประกวดราคาครั้งดังกล่าว กิจการร่วมค้า เจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) จะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกรวมเงินค่าเสียหายทั้งหมดประมาณกว่า 1,500 ล้านบาท

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม