ส.อ.ท. จับมือ กระทรวง ไอซีที จัด “โครงการส่งเสริมการจัดเก็บฐานข้อมูลกลางของสินค้า” ยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งข้อมูล รับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล

จันทร์ ๐๔ เมษายน ๒๐๑๖ ๐๙:๕๙
สถาบันรหัสสากล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จัดการสัมมนา "โครงการส่งเสริมการจัดเก็บฐานข้อมูลกลางของสินค้า" ในวันจันทร์ที่ 28 มีนาคม 2559 ณ ห้อง Meeting Room 1-2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยได้รับเกียรติจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ดร.อุตตม สาวนายน) กล่าวเปิดงาน และกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล" พร้อมทั้งวิทยากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนประสบการณ์

สำหรับการสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และเจ้าของสินค้า จัดเก็บข้อมูลสินค้าที่มีอยู่มากมายทั่วประเทศ ไว้ในฐานข้อมูลกลาง และให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศ รวมทั้งสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และเจ้าของสินค้า ต่อผู้บริโภค ให้เกิดการบูรณาการของข้อมูลระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่กลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการนำไปใช้ในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของธุรกิจและสามารถรองรับกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า ตามหลักการสากลนั้น ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) ในมุมภาคอุตสาหกรรม ครอบคลุม การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ การโลจิสติกส์ การภาษีอากร และการบริหารจัดการข้อมูลและเนื้อหา โดยหลักการที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้นั้น ภาครัฐจะมีบทบาทที่สำคัญเพื่อที่จะสามารถก้าวเดินไปพร้อมๆ กันกับภาคเอกชน ในการสร้างความสะดวก ส่งเสริม และสนับสนุน ซึ่งกันและกันทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งนี้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้จัดทำแนวทางขับเคลื่อนโดยมีกรอบยุทธศาสตร์ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 6 ยุทธศาสตร์ คือ 1)การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารดิจิทัล (Hard Infrastructure) 2)การสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล (Soft Infrastructure) 3)การส่งเสริมการสร้างบริการดิจิทัล (Service Infrastructure) 4)การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Economy Acceleration) 5)การพัฒนาสังคมดิจิทัล (Digital Society) และ 6)การพัฒนากำลังคนดิจิทัล (Digital Workforce) ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้มอบหมายให้สถาบันรหัสสากล (GS1 Thailand)) ร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการผลักดัน 3 เรื่องหลัก ดังนี้ 1)การจัดทำฐานข้อมูลกลางสินค้าแห่งชาติ เพื่อประโยชน์แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบซัพพลายเชนและผู้บริโภคในประเทศไทยและต่างประเทศ อาทิ ผู้ผลิตสามารถบันทึกข้อมูลสินค้าอย่าง ชื่อ รูปภาพ วิธีใช้งาน ข้อควรระวัง และ การรับรองคุณภาพของสินค้าต่างๆ ผู้ซื้อสินค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าด้วยการอ้างเลขหมายบาร์โค้ดแทนการพิมพ์ข้อมูลสินค้า ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบการรับรองคุณภาพสินค้า และผู้ให้บริการโลจิสติกส์สามารถใช้ข้อมูลสินค้าเพื่อการขนส่ง จัดเก็บ และตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

2)การสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานกลางแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Invoicing) ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยและภาคอุตสาหกรรมค้าปลีก ตั้งแต่การออกใบซื้อสินค้าจนถึงใบแจ้งหนี้และใบกำกับภาษี เพื่อรองรับการค้าในยุคดิจิทัลผ่านการอ้างอิงเลขหมายบาร์โค้ดบนสินค้าและเลขหมายบ่งชี้ที่ตั้งสากล รองรับมาตรฐานกลางข้อความการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (National Payment Message Standard) การปรับเปลี่ยนไปใช้ใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งกำหนดโดยกรมสรรพากร และการรับ-ส่งข้อความผ่านระบบ National Single Window ของกรมศุลกากรในอนาคต 3)การทำระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าจากผู้บริโภคไปจนถึงแหล่งกำเนิดเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค การตรวจสอบย้อนกลับสินค้าถือเป็นอีกประเด็นที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ภาครัฐในหลายประเทศได้ออกกฎหมายให้สินค้าโดยเฉพาะอาหารและยา ต้องมีข้อมูลที่สามารถอ้างถึงแหล่งที่มาของสินค้า ปรากฏบนบรรจุภัณฑ์ของตัวสินค้านั้นได้ เพื่อช่วยในการเรียกคืนสินค้าเฉพาะล็อตการผลิตที่มีปัญหาได้รวดเร็ว ช่วยลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นต่อผู้บริโภค

"การบรรจุข้อมูลที่สามารถอ้างถึงแหล่งที่มาของสินค้าจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าได้ เป็นการยกระดับการแข่งขันกับตลาดนานาประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดซัพพลายเชน ตั้งแต่ ผู้ผลิต ผู้ขนส่ง คลังสินค้า ผู้จัดจำหน่าย รวมถึงผู้ค้าส่งค้าปลีก ต้องบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินค้าในแต่ละกระบวนการภายในความรับผิดชอบของตนเอาไว้ชัดเจนในระบบที่สามารถเข้าถึงได้อย่างทันท่วงที ซึ่งเชื่อว่า ด้วยการขับเคลื่อนโครงการข้างต้นร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะช่วยยกระดับและเตรียมผู้ประกอบการไทยเศรษฐกิจดิจิทัลตามมาตรฐานสากลต่อไป" ดร.อุตตมฯ กล่าว

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการสถาบันรหัสสากล กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมฯ โดยสถาบันรหัสสากล เป็นนายทะเบียนในการกำหนดเลขหมายรหัสสินค้าตามมาตรฐานสากล GS1 Standard ได้นำแผนยุทธศาสตร์ในการสร้างฐานข้อมูลที่เป็นมาตรฐานกลางของสินค้า เพื่อผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และเจ้าของสินค้า สามารถบริหารจัดการข้อมูลสินค้าให้แก่ผู้บริโภคได้อย่างถูกต้อง สร้างความมั่นใจและน่าเชื่อในตัวสินค้าแก่ผู้บริโภคได้มากขึ้น รวมถึงเชื่อมโยงข้อมูลไปสู่กลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการนำข้อมูลสินค้าไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพของธุรกิจและยังรองรับกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ และผลักดันแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy เป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จาก การขับเคลื่อนนโยบายอย่างต่อเนื่องหลายๆ ประการ อาทิ การเร่งยกร่างกฎหมายเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล การปรับโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำหนดหน้าที่ การกำกับดูแลในแต่ละส่วน ให้ชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งการสร้างโครงข่าย Broadband แห่งชาติ เพื่อให้มีบริการอินเทอร์เน็ตเข้าถึงทุกพื้นที่ เป็นต้น

"เพื่อให้สามารถรองรับกับการพัฒนาเข้าสู่เศรษฐกิจยุคสมัยใหม่นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้เป็นหนึ่งในโครงการที่ริเริ่มขึ้นเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และเจ้าของสินค้า เก็บข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้ต่อยอดในการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อีก ในอนาคต เช่น ระบบการซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ เช่น E-Commerce E-Business ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลการให้มาตรฐานสินค้าของหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น โดยสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (CICOT) เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันได้อย่างมีแบบแผน สามารถนำไปใช้ได้ในหลายๆ ธุรกิจ ทั้งการซื้อขายสินค้าออนไลน์ การเปิดร้านขายสินค้า การขนส่ง เป็นต้น โดยการสัมมนานี้จะประกอบด้วย การบรรยายกระบวนการจัดเก็บข้อมูลสินค้าลงฐานข้อมูลสำหรับสมาชิก การเปิดร้านค้าออนไลน์บนเว็บ E-Commerce โดยผู้แทนจาก Amazon และการเสวนาพิเศษ เรื่องการใช้มาตรฐานข้อมูลสินค้า เพื่อสร้างโอกาสในการทำธุรกิจยุคดิจิทัล โดยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน" ประธาน ส.อ.ท. กล่าว..

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version