โดยภายในงานสัมมนาในครั้งนี้ CAT ได้เชิญกูรูจากสุดยอดธุรกิจทั้ง 3 ท่านมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของการทำงาน ทั้ง คุณ สุรชัย ชาญอนุเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคที เรสทัวรองท์ จำกัด หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ซานตาเฟ่ เสต็ก , คุณจงใจ กิจแสวง เจ้าของร้านหมูทอดเจ๊จง และคุณ กิตตินันท์ อนุพันธ์ ผู้ก่อตั้งและพัฒนาแอปพลิเคชั่น "เคลมดิ" นอกจากนี้ ยังเชิญผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารไทยพาณิชย์ มาแบ่งปันข้อมูลความรู้ในการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับ SMEs และไฮไลท์พิเศษ สำหรับการใช้เทคโนโลยีและโซลูชั่นต่างๆเพื่อสร้างการตลาดที่แข็งแกร่ง โดย ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและการขาย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
คุณสุรชัย ชาญอนุเดช CEO ซานตาเฟ่ เสต็ก ได้แบ่งปันประสบการณ์ในประเด็น สร้าง Brand อย่างไร ให้ Strong โดยเปิดเผยว่า "ปัจจุบัน ซานตาเฟ่ เสต็ก มีสาขามากกว่า 300 สาขา ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้นั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ กำลังใจ และทีมเวิร์คที่ดี และสิ่งที่ผู้ประกอบการหรือ SMEs ควรเรียนรู้ สำหรับการสร้างธุรกิจนั้น จะมีองค์ประกบ 3 อย่าง คือ คน ในที่นี้หมายถึงทั้ง คนในองค์กร ที่จะต้องมีเป้าหมายเดียวกัน มีคุณลักษณะที่ใกล้เคียงกัน และมีวัฒนธรรมองค์กรที่จะนำพาไปในทิศทางเดียวกัน การดูแลคนทำงานหรือทีมเวิร์คเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะธุรกิจไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นโดยคนเพียงคนเดียว นอกจากนี้ ยังหมายถึงลูกค้า ที่ครอบคลุมไปยังพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งการทำธุรกิจ ต้องสร้างมาตรฐาน ซึ่งนั่นจะนำมาซึ่งการสร้างแบรนด์และความจงรักภักดีต่อแบรนด์นั่นเอง นวัตกรรม คือการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาอำนวยความสะดวกทั้งในการทำงาน และการบริการลูกค้า การนำนวัตกรรมมาเป็นตัวช่วย จะสามารถลดต้นทุน ทั้งในเรื่องของเวลาและค่าใช้จ่าย และเป็นช่องทางการทำการตลาดที่ดีในโลกยุคปัจจุบัน และสุดท้ายคือ Bussiness Model ซึ่งการวางแผนธุรกิจที่ดี ย่อมนำทางให้ธุรกิจและองค์กรไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น" นอกจากนี้ สิ่งที่กูรูด้านการสร้างแบรนด์ได้ฝากไว้คือ "การสร้างแบรนด์หรือการทำธุรกิจต่างๆ ย่อมเจอปัญหาและอุปสรรค ขอแค่สนุกไปกับมัน ทำให้เต็มที่ และอย่ายอมแพ้"
ด้าน เจ๊จง คุณจงใจ กิจแสวง เจ้าของหมูทอดร้อยล้าน เจ๊จงหมูทอด จากร้านอาหารริมถนนสู่ตลาดหลักทรัพย์ เปิดเผยถึงเคล็ดลับ ขายอย่างไรให้ได้ใจลูกค้า ว่า "การขายอะไรก็ตาม สิ่งแรกที่ต้องมีคือความจริงใจ สำหรับหมูทอดเจ๊จง เจ๊จะเป็นคนจ่ายตลาดเอง จะใช้ของดีทำกับข้าว แม้จะต้นทุนจะมีราคาสูง แต่ก็จะขายในราคาที่ไม่แพง เพื่อให้ลูกค้ามารับประทานแล้วอิ่ม อร่อย ทำให้เค้ารู้สึกคุ้มค่า แล้วเค้าก็จะกลับมาซื้อเราอีกเรื่อยๆ และยังโฆษณาปากต่อปากให้ นอกความจริงใจในการทำอาหารแล้ว เจ๊จะยังลดแลกแจกแถม ซึ่งนั่นคือน้ำใจให้มีแก่ลูกค้าโดยไม่คิดหวังผลตอบแทน นอกจากนี้ เจ๊ยังชอบเรียนรู้เมนูใหม่ๆ เพื่อเอามาลองทำดู ถ้าวันไหนทำเมนูใหม่ก็บอกลูกค้าเลยว่า เพิ่งหัดทำนะ รสชาติเป็นยังไงให้บอก ลูกค้าจะเป็นผู้ที่สะท้อนของที่เราขายได้ดีที่สุด ขอให้เชื่อเถอะว่า ถ้าคุณคิดดี ทำดี สิ่งดีๆก็จะกลับมาหาคุณเอง ที่สำคัญให้อดทนต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น แล้วมันจะผ่านไปด้วยดี กับการขยายธุรกิจในอนาคต เราจะพัฒนา Business Model ใหม่ๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจ พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมโยงในธุรกิจทั้งหมดให้เกิดการสนับสนุนซึ่งกันและกัน"
คุณกิตตินันท์ อนุพันธ์ ผู้ก่อตั้งและพัฒนาแอปพลิเคชั่น "เคลมดิ" (Claim Di) และเป็น 1 ใน SMEs ที่ได้รับเงินลงทุนเริ่มต้นจาก Venture capital รายใหญ่จากต่างประเทศ เช่น 500 Startup และ Golden Gate Venture รวมทั้งนักลงทุนแนวหน้าจำนวนมากในการพัฒนาธุรกิจ เปิดเผยแนวคิดในการสร้างธุรกิจให้ รวยด้วยนวัตกรรมว่า "การพัฒนาแอปพลิเคชั่นเคลมดิ คือการต่อยอดความคิดจากระบบประกันภัย โดยมีแนวคิดของ คือการสร้างความสะดวกให้ผู้การเคลมประกัน ทั้งกับผู้ใช้งานเองและบริษัทประกันภัย ผู้ใช้งานสามารถเคลมประกันจากจุดเกิดเหตุได้ภายในเวลา 15 นาที ลดขั้นตอนที่บริษัทจะต้องส่งพนักงานไปยังที่เกิดเหตุ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่าย 550 บาท/ครั้ง และจากการเก็บสถิติก็พบว่ามีการทำรายการมากถึง 14 ล้านครั้ง โดยการให้บริการของ Claim Di จะครอบคลุมตั้งแต่การตรวจสอบรถก่อนการทำประกัน รวมถึงการเปลี่ยนบริษัทประกันภัยด้วย เนื่องจากมีสถิติว่าผู้ใช้รถจำนวน 40% – 50% จะเปลี่ยนบริษัทประกันภัยทุกปี โดยเคลมดิ สามารถเคลมประกันได้ทั้งแบบ Non accident, การเคลมประกันแบบ knock for knock คือ รถชนกันแล้วใช้สมาร์ทโฟนถ่ายรูป ส่งเข้าแอปพลิเคชั่น แลกข้อมูลรถกันระหว่างคู่กรณี แล้วแยกย้ายกันกลับบ้านได้เลย ลดเวลาการอยู่บนท้องถนนและยังมีบริการ i lert u ที่สามารถเรียกพนักงาน มายังที่เกิดเหตุได้อีกด้วย Business Model ของเคลมดิวางไว้อย่างชัดเจน และไม่หยุดนิ่ง เราต่อยอดความคิดเมื่อมีนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งนั้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด"
หลังจากกูรูจากวงการธุรกิจได้แชร์ความรู้และประสบการณ์ให้แก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาแล้ว คุณวิพล วรเสาหฤท รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงเคล็ดลับ กู้อย่างไรให้ได้เงิน สำหรับผู้ประกอบการ ว่า "ต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า ปัจจุบัน การอนุมัติสินเชื่อไม่ได้อยู่ในอำนาจบุคคลใด บุคคลหนึ่ง ธนาคารแห่งชาติได้ออกกฎการอนุมัติสินเชื่อว่า ทุกธนาคารจะต้องมีคณะกรรมการสินเชื่อ เพื่อพิจารณาการขอสินเชื่อแต่ละรายการ ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมไว้ก่อนกู้ คือ 1. การเดินบัญชีอย่างสม่ำเสมอ 2. การรักษาเครดิตให้ดีที่สุด 3. เอกสารทางการค้า ใบเสร็จหรืออื่นๆ ต้องเก็บไว้เพื่อแสดงหลักฐาน 4. ขอให้วางใจว่า ธนาคารนั้น มีระบบเก็บความลับของลูกค้าทุกราย การแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นที่สุด และไม่ควรปิดบังข้อมูล 5. ให้ขอสินเชื่อที่เหมาะสมกับความต้องการของธุรกิจ และ 6. คือ ต้องเตรียมแผนธุรกิจให้พร้อม มีที่มาที่ไป และชัดเจน ทั้งนี้ สิ่งที่ธนาคารจะดูก่อนการปล่อยกู้ ไม่ใช่แค่เรื่องของหลักทรัพย์หรือหลักประกันเท่านั้น ยังมีเรื่องของรายละเอียดอื่นๆ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้และเงื่อนไขต่างๆ ประกอบด้วย"
และไฮไลท์พิเศษสำหรับงานสัมมนาในครั้งนี้คือ ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและการขาย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่มาเปิดเผยถึงการใช้เทคโนโลยีและโซลูชั่นต่างๆเพื่อสร้างการตลาดที่แข็งแกร่ง ในหัวข้อ Strong Marketing by Smart Solutions ว่า "โลกในยุคปัจจุบัน เข้าสู่ยุค Digital Trends ซึ่งจากสถิติพบว่า จากประชากรไทย 68 ล้านคน ใช้อินเทอร์เนตและโซเชียลถึง 38 ล้านคน มีการเชื่อมต่อผ่าน Mobile ถึง 82.78 ล้านเครื่อง พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป จากเมื่อก่อนที่เราใช้อินเทอร์เนตหาข้อมูล ปัจจุบัน เรากลายเป็นคนป้อนข้อมูลเหล่านั้นเอง คนสามารถกลายเป็นสินค้า เป็นแบรนด์เองได้ และเป็นยุคที่เกิด Generation C ซึ่งไม่ได้ถูกกำหนดด้วยอายุ ปีเกิด หรือลักษณะทางกายภาพ แต่กำหนดด้วยพฤติกรรมการเชื่อมต่อโลกออนไลน์ โดย Gen C จะมีลักษณะพิเศษ ที่เรียกว่า 5 C ได้แก่ Connection พฤติกรรมที่ชอบ "การเชื่อมต่อ" อยู่ตลอดเวลา , Convenience พฤติกรรมที่ชอบ "ความสะดวกสบาย" ในทุกสิ่งโดยอย่างยิ่งกับการซื้อ-ขายสินค้า , Creation พฤติกรรมที่ชอบ "ความสร้างสรรค์" มีความคิดเป็นของตัวเอง ชอบดูในสิ่งที่ไม่ซ้ำซาก , Curation พฤติกรรมที่ชอบ "บอกต่อ" สิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัว และแชร์ในสิ่งที่ตนเห็นว่ามีคุณค่าแก่ผู้อื่นและ Community พฤติกรรมที่ชอบ "การอยู่เป็นกรุ๊ป" และการรวมตัวของผู้ที่มีความชื่นชอบเหมือนๆ กัน การศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคจะทำให้ธุรกิจเรามีความได้เปรียบ และมองเห็นช่องทางการตลาดได้ถูกต้อง ซึ่งการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่างๆมาใช้ ก็เปรียบเสมือนการมีเครื่องไม้เครื่องมือที่เหมาะสมมาช่วยพัฒนาธุรกิจของเราให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ในส่วนของ CAT ผู้ให้บริการด้านโครงสร้างระบบโทรคมนาคม เรามีบริการ IT Solution เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น E-Business ,Cloud Solution และบริการเครือข่าย " สุดท้าย ดร.ดนันท์ฯ ได้ให้ไอเดียแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาว่า "การเลือกใช้ Solution ต่างๆสำหรับธุรกิจ ต้องคิดให้ตอบโจทย์และครอบคลุม Functional ทำให้ธุรกิจอยู่ได้ แต่ Emotional จะทำให้ธุรกิจได้กำไร"
เรียกได้ว่า นอกจากความรู้แบบอัดแน่นจัดเต็มแล้ว วิทยากรแต่ละท่านก็ขนทั้งเคล็ดลับและแรงบันดาลใจมาให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาแบบจัดเต็มไม่มีกั๊กกันเลยทีเดียว ติดตามการสัมมนาดีๆ แบบนี้ได้ทาง www.catdatacom.com