รศ.ดร.ณฐา คุปตัษเฐียร ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์ต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า จากความสำเร็จในการดำเนินโครงการ RMUTT- RMUTT-SP : Learning ทั้งสองรุ่นที่ผ่านมา RMUTT-SP : Learning Express 3 ยังเป็นโครงการที่ร่วมพัฒนากระบวนการคิด สร้างประสบการณ์การเรียนรู้โดยตรงผ่านการลงมือทำให้กับนักศึกษาไทยและนักศึกษาสิงคโปร์อย่างเต็มที่ เป็นโครงการร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี และ Singapore Polytechnic ประเทศสิงคโปร์ หนึ่งในความร่วมมือที่ต่อยอดจากการเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการการจัดการเรียนการสอนแบบซีดีไอโอ (CDIO-based Education Framework) ของคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ตัวกิจกรรมเป็นทีมสหวิชาการ (Multi-disciplinary) ในการสร้างนวัตกรรมเพื่อชุมชน (Social Innovation) ผ่านกระบวนการการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เป็นทักษะในการคิดการฝึกให้นักศึกษาช่วยแก้ปัญหาตามชุมชนต่างๆ ผ่านขั้นตอนการสัมภาษณ์ของผู้อยู่ในชุมชน ภายใต้การดูแลและแนะนำของอาจารย์ทั้งสองสถาบัน ซึ่งอาจารย์ที่เข้าร่วมโครงการได้นั้นต้องผ่านการอบรม Certified Learninig Express Facilitator เรียบร้อยแล้ว
โครงการ RMUTT-SP : Learning Express 3 นำนักศึกษายังสามชุมชนสองจังหวัด เรียนรู้วิถีเศรษฐกิจชาวบ้าน เพื่อสร้างสรรค์แผนที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่ชุมชนตลาดบางน้ำผึ้ง จ.สมุทรปราการ วิเคราะห์เทคนิคและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธูปหอมจากธรรมชาติที่ชุมชนบ้านธูป จ.สมุทรปราการ ศึกษาแนวคิดวิถีของหมอนวดแผนไทยมืออาชีพที่ศูนย์นวดแผนไทย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ชุมชนเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงจากคนในชุมชน โดยมีนักศึกษาจาก มทร.ธัญบุรี เข้าร่วมโครงการ 24 คน และนักศึกษา Singapore Polytechnic 24 คน
"แจ๊ค" นายธีรเดช ทรัพย์สิน นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เล่าว่า สนใจกิจกรรมในโครงการ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมกระบวนการคิด ซึ่งได้ลงพื้นที่ตามชุมชนทำงานเป็นทีม และที่สำคัญอยากสร้างความเข้าใจให้กับตนเอง โดยตนเองเป็น 1 ในนักศึกษาของ มทร.ธัญบุรี 3 คน ที่ได้เดินทางไปเรียนรู้ กระบวนการการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ที่ประเทศสิงค์โปร์ 10 วัน จากอาจารย์สิงคโปร์ ซึ่งอาจารย์สอนวิธีคิด ขั้นตอนในการคิด ในการเอาความคิดมาออกแบบ จนเกิดเป็นไอเดียในการทำงาน นำมาใช้ในโครงการ Learning Express 3 และใช้ในชีวิตประจำวันได้ สำหรับการใช้ชีวิตที่ ศูนย์นวดแผนไทย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ชุมชนเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี 4 วัน 3 คืน ได้มีโอกาสลงพื้นที่ในการเก็บข้อมูลกับเพื่อนๆ ทั้งชาวไทยและสิงคโปร์ ได้พูดคุยสัมภาษณ์ นำปัญหาที่ได้มาออกแบบ กลายเป็นโมเดลเกาะเกร็ดสำหรับนักท่องเที่ยว สำหรับโมเดลที่ทุกคนช่วยกันคิดมา เป็นเพียงแนวคิดที่เกิดจากกระบวนการการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ของพวกเรา คิดว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ได้ทำงานเป็นทีม เกิดความสร้างสรรค์ และมีได้ทำงานกับเพื่อนต่างชาติด้วย
เช่นเดียวกับ "ผึ้ง" นางสาวจิตภิรมย์ ไปเพชร นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ เล่าว่า ที่สนใจโครงการ เพราะอยากไปประเทศสิงคโปร์ อยากมีประสบการณ์ต่างประเทศ แต่ไม่เสียใจที่ไม่ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 3 นักศึกษาไทยที่เดินทางไปประเทศสิงคโปร์ แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการ Learning Express เหมือนได้ไปต่างประเทศ เพราะว่า ในโครงการนี้มีนักศึกษาจากประเทศสิงคโปร์เข้าร่วมด้วย ระหว่างที่ทำงานร่วมกัน นักศึกษาสิงคโปร์จะตั้งใจทำงาน มุ่งมั่นมาก สำหรับโครงการนี้ สอนให้ตนเองคิด โดยมองปัญหาที่เกิดขึ้น ดูปัจจัยรอบๆ ในการทำงานไม่มีปัญหา เนื่องจากตนเองมีพื้นฐานทางด้านภาษาอังกฤษอยู่แล้ว
Zanirah นักศึกษาจาก Singapore Polytechnic เล่าว่า สนใจโครงการนี้ เพราะได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือคน ซึ่งเคยไปที่ประเทศญี่ปุ่น แต่เป็นเพียงโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา ในการลงพื้นที่ได้เจออะไรที่ท้าทาย เพราะว่าแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ประเทศไทยอากาศค่อนข้างร้อน แต่จากการสัมพันธ์คนไทยมีน้ำใจ ให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีรอยยิ้มที่สุภาพเป็นมิตร นักศึกษาไทยเป็นมิตร ทำงานร่วมด้วยแล้วสนุก ถ้ามีโอกาสอยากเข้าร่วมโครงการนี้อีก
Azhav นักศึกษาจาก Singapore Polytechnic เล่าว่า ตนเองชอบเดินทางไปตามประเทศต่างๆ เพราะว่า ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศนั่นๆ เคยเดินทางไป ประเทศอินโดนีเซีย กัมพูชา และครั้งนี้มาประเทศไทย สำหรับ ศูนย์นวดแผนไทย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ชุมชนเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นสถานที่ท่องเที่ยว จากการศึกษาข้อมูลและสัมภาษณ์โดยส่วนใหญ่ จะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยว แต่ยังไม่รู้จัก ศูนย์นวดแผนไทยเท่าที่ควร ดังนั้นตนเองและเพื่อนชาวไทย จึงได้คิดและออกแบบโมเดลการท่องเที่ยวเกราะเกร็ดต้นแบบขึ้นมา ซึ่งใช้ศูนย์นวดแผนไทยเป็นที่พัก เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รู้จัก ทำแผ่นพับแนะนำให้ และนำไปเสนอชาวบ้านและชุมชน เพื่อนำไปเสนอต่อภาครัฐต่อไป ดีใจที่ได้มาเข้าร่วมโครงการนี้
ในการนำนักศึกษาไปใช้ชีวิตแบบโฮมสเตย์ในพื้นที่ชุมชนนั้น เพื่อการเรียนรู้ความเป็นอยู่ พูดคุย เก็บข้อมูลเพื่อศึกษาความต้องการของสมาชิกในชุมชนว่าแต่ละชุมชนนั้นต้องการให้นักศึกษาช่วยปรับปรุง หรือ เพิ่มนวัตกรรมให้แก่ชุมชน เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เรียนรู้การทำงานเป็นทีม ฝึกทักษะทางภาษาในการสื่อสารอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นอีกรูปแบบของการฝึกฝนและเตรียมความพร้อมนักศึกษาให้กลายเป็น "บัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพตามอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี" รศ.ดร.ณฐา กล่าวทิ้งท้าย