นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์ประมาณการต้นทุนการผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญปี 2559 (รอบไตรมาสที่ 1 ณ มีนาคม 2559) ในภาพรวม พบว่า ค่าจ้างค่าแรงในภาคการผลิตเกษตรยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ราคาปัจจัยการผลิตหลายชนิดลดลง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ปุ๋ยเคมี สารเคมี รวมทั้งค่าเช่าค่าใช้ที่ดิน ค่าจ้างบริการเครื่องจักรกลเตรียมดินและเก็บเกี่ยวเริ่มมีแนวโน้มลดลงบ้างแล้ว
สำหรับสาเหตุที่ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร ปี 2559 มีแนวโน้มลดลงหลายชนิด นอกจากปัจจัยการผลิตหลายตัวที่มีราคาลดลงแล้ว ยังเกิดจากนโยบายของภาครัฐที่ช่วยเหลือลดภาระต้นทุนการผลิตของเกษตรกรในหลายมาตรการ เช่น นโยบายที่ขอความร่วมมือกับหลายภาคส่วนในการลดค่าบริการเครื่องจักลการเกษตรในการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมทั้งเรื่อง Motor Pool ที่จะทำให้ค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนการผลิตลดลง ตลอดจนนโยบายแปลงใหญ่ นโยบายเรื่องลดราคาเมล็ดพันธุ์ และการควบคุมดูแลในเรื่องค่าเช่าที่ดินทางการเกษตร ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติผ่านร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แล้วเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2559 โดยสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการดูแลเรื่องค่าเช่าที่ดินให้มีความยุติธรรมได้มากขึ้น นอกจากนี้ เกษตรกรเองยังได้มีการปรับตัว โดยพยายามที่จะลดต้นทุนของตนเองด้วยการปลูกพืชให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ ลดการใช้ปุ๋ยเคมีสารเคมีหรือใช้เท่าที่จำเป็น และใช้ปุ๋ยอินทรีย์สารอินทรีย์ทดแทน ซึ่งนอกจากลดต้นทุนแล้ว ยังปลอดภัยต่อตนเองและผู้บริโภคอีกด้วย
ด้านนายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า จากราคาปัจจัยการผลิตหลายตัวที่ลดลง ได้ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตหลายชนิดมีต้นทุนต่อไร่ลดลงไปด้วย ซึ่งเมื่อแยกตามกลุ่มชนิดพืช พบว่า กลุ่มข้าว (ข้าวนาปี ปี 2559) ต้นทุนรวมต่อไร่ ลดลงจากปีก่อน เนื่องจากเกษตรกรมีการปรับตัวและภาครัฐมีนโยบายช่วยลดต้นทุนด้านปัจจัยการผลิตในเรื่องราคาปุ๋ย ราคาค่าบริการเครื่องจักรกลในการเก็บเกี่ยว และดูแลเรื่องค่าเช่าที่ดินทางการเกษตรให้มีความเหมาะสม ประกอบกับราคาปุ๋ยเคมี สารเคมี และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง ในขณะที่การพยากรณ์ผลผลิตต่อไร่ช่วงก่อนต้นฤดูการผลิต คาดว่าส่วนผลผลิตต่อไร่จะไม่ต่ำกว่าปีก่อน ถ้าผลกระทบจากภัยแล้งไม่รุนแรง ซึ่งจะส่งผลทำให้ต้นทุนต่อหน่วย (ตัน) ของข้าวนาปีปีเพาะปลูกที่จะถึงนี้ ลดลงจากปีก่อน
กลุ่มพืชไร่ ต้นทุนต่อไร่ และต้นทุนต่อหน่วยลดลง ยกเว้นมันสำปะหลังที่ต้นทุนหน่วยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากผลผลิตต่อไร่ของมันสำปะหลังปีนี้คาดว่าจะลดลงจากปีก่อนเล็กน้อยซึ่งเป็นผลจากช่วงระยะการเติบโตกระทบแล้ง ส่วนกลุ่มถั่วมีต้นทุนต่อไร่ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่ต้นทุนต่อหน่วยลดลง กลุ่มไม้ผล ต้นทุนรวมต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนทำให้มีค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยว และดูแลรักษาเพิ่มขึ้น ยกเว้น ลองกอง ส้มโอ และส้มเขียวหวานที่ต้นทุนรวมต่อไร่ลดลง เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาลดลง จากการที่เกษตรกรขาดความมั่นใจในด้านราคา และปัญหาภัยแล้ง ส่วนต้นทุนต่อหน่วย (ตัน) ลดลงจากปีก่อนทุกชนิด เฉลี่ยลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
กลุ่มไม้ยืนต้น ปาล์มน้ำมัน และยางพารา มีต้นทุนรวมต่อไร่ลดลงจากปีก่อน จากราคาปัจจัยการผลิตที่ลดลง ในขณะที่ยางพารามีการดูแลรักษาน้อยลงเนื่องจากราคาไม่จูงใจ สำหรับต้นทุนต่อหน่วยลดลงจากปีก่อน ทั้งปาล์มน้ำมัน และยางพารา และ กลุ่มพืชผัก กล้วยไม้ตัดดอก หอมใหญ่ หอมแดง กระเทียม มันฝรั่ง และกล้วยไม้ตัดดอก มีต้นทุนต่อไร่ลดลง ส่วนต้นทุนต่อหน่วย ก็ลดลง ทั้งนี้เป็นผลจากการที่ราคาปัจจัยการผลิตที่ลดลง ประกอบกับผลผลิตที่ได้อยู่ในเกณฑ์ดี
ทั้งนี้ ข้อมูลต้นทุนการผลิต ที่ สศก. วิเคราะห์และประมาณการ จะออกเป็นประจำปีละ 4 รอบไตรมาส ซึ่งเกษตรกรสามารถนำไปใช้วางแผนการผลิตของต้นเองในระดับพื้นที่ โดยเปรียบเทียบผลตอบแทนของแต่ละชนิดพืช พิจารณาถึงความเหมาะสมทางกายภาพทั้งเรื่องความสมบูรณ์ของดิน แหล่งน้ำของพื้นที่ก่อนตัดสินใจลงทุนปลูก นอกจากนี้ เกษตรกรจะได้นำข้อมูลมาปรับปรุงพฤติกรรมการผลิตของตนเองในการลดค่าใช้จ่ายในการใช้ปัจจัยการผลิตให้เหมาะสม เลือกใช้พันธุ์ดี ลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี หันมาใช้ปุ๋ยมูลสัตว์และสารธรรมชาติแทน เป็นการลดต้นทุนการผลิตอีกทางหนึ่งและยังส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและตนเอง ซึ่งท่านที่สนใจข้อมูล สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์สารสนเทศการเกษตร โทร. 0 2561 5006 ในวันเวลาราชการ