ปฏิบัติการ คสช...คืนความสุขแด่คนชรา

อังคาร ๑๒ เมษายน ๒๐๑๖ ๑๕:๔๘
ว่ากันว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จากรายงานล่าสุดเมื่อเดือน ธันวาคมปี พ.ศ.2558 ธนาคารโลกระบุว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าภูมิภาคอื่นๆ เป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้ปานกลางและร่ำรวย กำลังเข้าสู่โหมดจะสูญเสียวัยแรงงานประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2583

น่าสนใจว่าหากเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นมา กลุ่มคนผู้สูงอายุที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น รัฐจะจัดสวัสดิการหรือเตรียมพร้อมรองรับพวกเขาอย่างไร ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายสำหรับหน่วยงานที่ต้องหาคำตอบ เพื่อนำมาซึ่งมาตรการรองรับกับปัญหาดังกล่าว

ทว่าหากมองกลับมาในสังคมโลกปัจจุบัน ปัญหาผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องไกลตัวมากนัก อย่างในชุมชนสะพานดำเขตเทศบาลเมืองคลองแห อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ภาพผู้สูงอายุที่นั่งเฝ้าบ้านอย่างโดดเดี่ยวมีให้เห็นทั่วไป อาจจะเป็นภาพชินตาของใครหลายคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้

แต่สำหรับกลุ่มเยาวชน Happy heart จากโรงเรียนส่งเสริมศาสนาวิทยามูลนิธิ ซึ่งมีสมาชิกประกอบไปด้วย นายวินิจ สามัน(ฮากิม) นายอาณัติ หลีนายน้ำ (ณัติ) นางสาวฮารีษะ หะยีอุมา (ชะ) นางสาวรอฮานี หมัดสะอิ(นี) และนางสาวคีรูลวาลีด๊ะ ยูโซะ(คีรูล) พวกเขากลับมองว่า ภาพที่เห็นคือความโดดเดี่ยวในช่วงบั้นปลายชีวิตที่ไม่ควรถูกมองข้าม พวกเขาจึงลุกขึ้นมาโครงการมอบความสุขแด่คนชราขึ้น ด้วยหวังว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการ "ปลดล๊อค" ความรู้สึกโดดเดี่ยว ให้กลายเป็นรอยยิ้มที่สดใส และการมีสุขภาพที่ดี ซึ่งโครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ที่ดำเนินการโดยสงขลาฟอรั่ม สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

"ทำไมคนชราต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว"...จากคำถามสู่การหาคำตอบ ที่ฮากิม ตั้งคำถามกับตัวเองเมื่อเจอภาพหญิงชรานั่งเหม่อคนเดียวหน้าบ้าน เมื่อครั้นลงพื้นที่ชุมชนสะพานดำ ซึ่งเป็นการหาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับผู้สูงอายุ อาทิ จำนวนผู้สูงอายุในพื้นที่ ข้อมูลเกี่ยวกับโรคประจำตัว อาหารการกิน รวมไปถึงสภาพร่างกายและจิตใจ เป็นต้น เพื่อนำมาประกอบการทำสื่อในโครงการนั่นเอง

เหตุผลของการเลือกพื้นที่ดังกล่าว ฮากิมระบุว่า เพราะอาณัติซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มเป็นคนในชุมชนนี้ขณะเดียวกันชุมชนสะพานดำอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนมากนัก สะดวกทั้งการเดินทางและการประสานงาน โดยมีม๊ะหรือแม่ของอาณัติเป็นคนติดต่อผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ทางทีมวางแผนลงพื้นที่เพื่อดูบริบทชุมชนโดยเจาะจงบ้านทั้งหมด 20 หลังคาเรือน ฮากิมให้เหตุผลว่าสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง และเป็นกรณีศึกษาสำหรับบ้านที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการจริงๆ

ทั้งนี้ ก่อนที่จะลงพื้นที่จริงฮากิมและเพื่อนๆ ได้ไปดูงานที่สถานสงเคราะห์คนชรา จ.สงขลา เพื่อขอข้อมูลความรู้ในเรื่องการปฏิบัติตนต่อผู้สูงอายุ เรื่องอาหารการกิน การดูแลด้านร่างกายและสภาพจิตใจของผู้สูงอายุ

"ที่ไปที่นี่ เพราะตั้งใจอยากจะไปดูการทำกิจกรรม แต่ที่นี่ไม่มีการทำกิจกรรม แต่กลับได้เรียนรู้เรื่องอาหารการกินของคนชรา ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายอาหารจะปรุงอาหารให้ทุกคนกินเหมือนกัน โดยเจ้าหน้าที่อธิบายถึงรายละเอียดให้ฟังว่า ผู้สูงอายุควรกินอาหารอย่างไรไม่ให้กระทบกับโรคประจำตัวของแต่ละคน นอกจากนี้ผมยังได้เรียนรู้การปรับตัวในการเข้าไปพูดคุยกับผู้สูงอายุว่าแต่ละคนมีนิสัยไม่เหมือนกัน ซึ่งพอได้เข้าไปพูดคุยกับผู้สูงอายุก็ได้ทราบปัญหาของเขา เช่น ลูกหลานทิ้ง สามีเสียชีวิต อยู่คนเดียวบ้าง ซึ่งวันนั้นที่เข้าไปนั่งคุยกับผู้สูงอายุเขาจะเล่าเรื่องราวของเขาเอง เหมือนบางคนเขาเหงา พอเราเข้าไปคุยด้วยเขาก็จะเล่าเรื่องราวต่างๆให้ฟัง ดูสีหน้าเขามีความสุขที่ได้พูดคุยเล่าเรื่องในอดีต" ฮากิมสะท้อนประสบการณ์

เมื่อได้ข้อมูลเพียงพอกลุ่มเยาวชนจึงรวบรวมมาจัดทำสื่อมอบให้ผู้สูงอายุ โดยจะมีข้อมูลเกี่ยวกับข้อควรระวังสำหรับผู้สูงอายุ การออกกำลังกาย อาหารการกิน ซึ่งมีข้อปฎิบัติมากมายที่พึงตระหนัก เช่น อาหารการกิน การปรุงอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด การระมัดระวังถึงใช้ชีวิตประจำวันอย่างการขึ้นลงบันไดของผู้สูงอายุ การเข้าห้องน้ำที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เป็นต้น โดยพบว่าโรคประจำตัวของผู้สูงอายุที่มักจะพบทั่วไปนั่นคือ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคความดัน

ฮากิมเล่าว่า โครงการมอบความสุขแด่คนชรา เป็นโครงการที่ทางกลุ่มตั้งใจทำขึ้น เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความสุขภายใต้คอนเซปต์ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ด้วยการลงพื้นที่พบปะพูดคุยเยี่ยมเยียนให้กำลังใจเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีระหว่างผู้สูงอายุกับเยาวชนโดยไม่มีช่องว่างระหว่างวัย และหวังว่าโครงการนี้สามารถสร้างรอยยิ้ม รวมทั้งเป็นการเสริมความรู้ให้คนชราเกี่ยวกับการดูแลตัวเองในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บและการรับประทานอาหารให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วน

นอกจากการมอบสื่อแก่ผู้สูงอายุแต่ละหลังแล้ว ทางกลุ่มยังติดตามความคืบหน้าโครงการด้วยการเก็บข้อมูลและทำแบบสอบถามกับลูกหลานที่ดูแลรวมถึงผู้สูงอายุ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปฎิบัติตัวก่อนและหลังการใช้สื่อ ซึ่งจากแบบสอบถามส่วนใหญ่ผู้สูงมีการปรับตัวและดูแลตัวเองได้ดีขึ้น โดยมีการปรับเปลี่ยนการบริโภคอาหาร งดอาหารทอด อาหารมัน รวมทั้งมีสภาวะจิตใจที่สดชื่น แจ่มใส เบิกบาน พูดคุยกับคนรอบข้างและออกกำลังกายง่ายๆตามแบบสื่อที่ไว้ได้มากขึ้น

ปัจจุบันโครงการนี้ได้ถูกส่งมอบจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องแล้ว โดยได้ดึงเยาวชนรุ่นน้องในโรงเรียนเดียวกัน ทั้งหมด 20 คน คละอายุ คละชั้นทั้ง ม.ต้นและ ม.ปลาย เพื่อสานต่อปณิธานของรุ่นพี่ที่ต้องการสร้างรอยยิ้มให้ผู้สูงวัยต่อไป โดยกลุ่มเยาวชน Happy heart ระบุว่า หากไม่มีรุ่นน้องมาสานต่อโครงการดังกล่าว สิ่งที่ทำมาตั้งแต่เริ่มต้นเท่ากับสูญเปล่า ขณะเดียวกันกิจกรรมที่จัดขึ้นกับผู้สูงอายุก็จะหยุดชะงักลง ซึ่งการสานต่อของรุ่นน้องทำให้โครงการดังกล่าวดำเนินการต่อไปเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version