กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าโครงการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน จัดทำยุทธศาสตร์มาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร โดยให้การรับรองสินค้าที่ได้มาตรฐาน GAP GMP และHACCP หวังพัฒนาการผลิตทั้งระบบตั้งแต่ฟาร์มจนถึงโรงงานแปรรูป

ศุกร์ ๑๕ เมษายน ๒๐๑๖ ๑๗:๑๗
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการเข้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2558 เป็นต้นมา ทำให้ภาษีส่งออกและนำเข้าสินค้าในหลายรายการลดลงเหลือ ร้อยละ 0 และผลจากการที่องค์การการค้าโลก (WTO) มีมติให้ประเทศที่พัฒนาแล้วยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตร จึงเป็นโอกาสของสินค้าเกษตรของไทยมีอนาคตสดใสในการส่งออกมากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยจำนวนมากโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งมีความชื่นชอบผลไม้และอาหารไทยมาก ทำให้มีการบริโภคสินค้าเกษตรมากขึ้นตามไปด้วย นับเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างตลาดสินค้าเกษตรภายในประเทศลดการพึ่งพาการส่งออก ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นที่เกษตรกรต้องดำเนินการ คือการรักษามาตรฐานและคุณภาพของสินค้าเกษตรให้มีความปลอดภัยจากจุลินทรีย์และสารเคมี และเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน มาช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนได้จัดทำยุทธศาสตร์มาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อพัฒนาการผลิตทั้งระบบตั้งแต่ระดับฟาร์ม สถานที่รวบรวมผลผลิต ห้องเย็นและโรงงานแปรรูป โดยให้การรับรองสินค้าที่ได้มาตรฐาน GAP GMP และHACCP แก่ผู้ประกอบการระดับต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศมีความมั่นใจในความปลอดภัยของสินค้าเกษตรไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ

สำหรับในปี 2558 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการรับรองระดับฟาร์ม จำนวน 104,918 ฟาร์ม โรงงานแปรรูป จำนวน 1,269 โรงงาน และตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างสินค้าเพื่อการส่งออก จำนวน 326,559 ตัวอย่าง ซึ่งปัจจุบันสินค้าเกษตรส่งออกของไทยได้รับการพัฒนาจนเป็นที่ยอมรับ รวมทั้งมีการตีกลับสินค้าส่งออกลดลง เห็นได้จากการส่งออกไก่เนื้อไปต่างประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5% หลังจากที่ประเทศญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปยกเลิกการห้ามนำเข้าเนื้อไก่สดแช่แข็งตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เนื่องจากการระบาดของไข้หวัดนก ทำให้ส่งออกได้เฉพาะไก่แปรรูปแล้วเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่า การผลิตไก่เนื้อของไทยได้มีการจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน มีระบบการผลิตที่ปลอดภัย และสามารถตรวจสอบย้อนกลับเพื่อยืนยันแหล่งผลิตได้

อย่างไรก็ตาม ผลจากการพัฒนามาตรฐานของสินค้าเกษตร ยังตกถึงมือเกษตรกรไม่มากเท่าที่ควร เนื่องจากยังมีช่องว่างของผลตอบแทนที่เกษตรกรได้รับกับผู้ประกอบการที่มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงดำเนินการโครงการตลาดเกษตรกร (Farmers Market) ขึ้นทุกจังหวัด ตั้งแต่ปลายปี 2557 เป็นต้นมา เพื่อให้เกษตรกรได้มีแหล่งจำหน่ายสินค้ามาตรฐาน เพิ่มช่องทางการจำหน่าย ลดความเสี่ยงจากการส่งออก อันเป็นการสร้างเศรษฐกิจชุมชนในระดับฐานรากตามแนวทางตลาดประชารัฐ ตามนโยบายของรัฐบาล

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO