สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(มทส.) โดย เทคโนธานี เปิดเวทีนำเสนอผลการวิจัย "โครงการวิจัยเพื่อสารสนเทศทางการศึกษาโรงเรียนนำร่องจังหวัดนครราชสีมา"ภายใต้ "โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา" โดยข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 2,911 คนใน 31 โรงเรียนพบว่าเด็กโคราช มีอัตราการลาป่วยสูงถึงร้อยละ 60 หรือเฉลี่ย 3 วันต่อภาค ไม่ชอบการเรียนในวิชาหลักเช่นคณิตศาสตร์ อังกฤษ วิทยาศาสตร์ ถึงร้อยละ 32 และใช้เวลาเสาร์อาทิตย์เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ถึงร้อยละ 29.77
ดร.วิภานันท์ เอียประเสริฐ หัวหน้าทีมวิจัยและคณะทำงานจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้นครราชสีมาเปิดเผยว่าจากงานวิจัยพบ 3 ปัญหาหลักของเด็กและเยาวชนในจังหวัดโคราชคือ เด็กร้อยละ 30 ไม่ได้รับประทานอาหารเช้าเนื่องจากปัญหาความยากจน และจากการสำรวจระดับของความสุขในการเรียนพบว่าเด็กนักเรียนไม่มีความสุขในการเรียนค่อนข้างสูงจนน่าเป็นห่วง และในประเด็นที่อยากให้โรงเรียนปรับปรุงในเรื่องใดบ้างก็ยังพบว่ามีเด็กถึง 1,664 คนที่ระบุว่าอยากให้คุณครูใจดี
"ผลของการวิจัยเหล่านี้คณะทำงานทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมกันเพื่อดูว่าขณะนี้กำลังเกิดอะไรขึ้นกับเด็กในจังหวัดของเรา มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ และถ้าเราอยากที่จะพัฒนาเด็กและเยาวชนของเรา ผู้ใหญ่อย่างเราเองจะต้องปรับปรุงแก้ไขอะไรบ้าง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะนำไปสู่การทำงานร่วมกันของคณะกรรมการประสานงานร่วมในพื้นที่นำร่องและคณะทำงานปฏิรูปการเรียนรู้ของจังหวัดที่เพื่อที่จะยกระดับไปสู่เวทีการนำเสนอข้อมูลและปัญหาในระดับจังหวัดต่อไป"
ผศ.ดร.ปภากร พิทยชวาล หัวหน้าคณะทำงานโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมายังระบุถึงแนวทางการขยายผลการดำเนินงาน โครงการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาผู้เรียน หรือ Professional Learning Community (PLC) ว่าโคราชเป็น 1 ใน 4 จังหวัดที่ทำงานร่วมกับ สสค. โดยได้นำกระบวนการ PLC ไปใช้กับ 13 โรงเรียนนำร่องซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี
"การนำ PLC ไปใช้พัฒนาครูเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนนั้น ได้ทำให้เกิดการสร้างการเรียนรู้อย่างมีความสุขเกิดขึ้นระหว่างครูและเด็กนักเรียน เป็นปรากฏการณ์ที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนได้ ซึ่งสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับใช้หนุนเสริมกับโรงเรียนอีกหลายๆ แห่งได้ โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับครูและเด็กจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นให้ประสบความสำเร็จได้ในอน