นายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่าในการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นของสมัชชาการศึกษาจังหวัดสุรินทร์ ตามโครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ โดยการสนับสนุนของ สสค. นั้น ได้ข้อสรุปคือคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดสุรินทร์จะรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์เพื่อยกร่างขึ้นเป็นแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัด แล้วบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาเพื่อให้ได้การสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง
"แนวทางการดำเนินงานต่อไปจากนี้คือการตั้งคณะกรรมการการศึกษาของจังหวัด เสนอเข้าไปในคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือ กรอ. เพื่อขอความร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดหาตำแหน่งงาน สนับสนุนให้เด็กที่ผ่านการเรียนสาขาช่างต่างๆ ให้มีอาชีพ สามารถประกอบอาชีพในเชิงธุรกิจได้ ขณะเดียวกันเยาวชนที่มีความรู้ความสามารถดีก็จะส่งเสริมให้ได้รับการศึกษาในระดับสูงขึ้นไป"
พร้อมกันนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ยังระบุอีกว่า เมื่อยกร่างและจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาของจังหวัดแล้ว ก็จะต้องพิจารณาการจัดสรรงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ องค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยจังหวัดสุรินทร์เองก็พร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณด้านการพัฒนาจังหวัดให้สอดคล้องกับเป้าหมายและบริบทของจังหวัดสุรินทร์ด้วย
"สุรินทร์มีพื้นฐานด้านการเกษตรเป็นหลัก เราก็จะเน้นให้เด็กที่จบออกมาสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้จริง ซึ่งอาจเป็นเกษตรก้าวหน้า เกษตรผสมผสาน หรือทางราชการเรียก Smart Farmer นักเรียนที่เรียนสายเกษตรก็สามารถนำความรู้มาประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมได้ สร้างรายได้และอยู่ในถิ่นฐานของตนเอง สร้างความเจริญในถิ่นฐานของตนเองดีกว่าอพยพไปอยู่ที่อื่นซึ่งอาจจะมีรายได้ที่ไม่แน่นอน เกิดเป็นปัญหาในพื้นที่อื่น และก็พร้อมที่จะสนับสนุนเด็กที่เรียนเก่งให้เรียนในระดับที่สูงขึ้นไปตามศักยภาพ"
ด้าน นายทองสุก รวยสูงเนิน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า จากการสำรวจข้อมูลใน 775 หมู่บ้านจากทั้งสิ้น 2,120 ชุมชน หรือประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ พบว่ามีเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาถึง 4,396 คน
"ข้อมูลและตัวเลขเหล่านี้นับว่าเป็นปัญหาใหญ่มาก จึงต้องมาวางแผนเรื่องการจัดการศึกษาของเด็กและเยาวชนจังหวัดสุรินทร์ในอีก 5 ปีข้างหน้าว่าควรจะเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันบทบาทของปัญจภาคีซึ่งประกอบด้วย ท้องที่ ท้องถิ่น สถานศึกษา กศน. วิทยาลัยการการอาชีพ ผู้ปกครองและองค์กรเอกชน จะมีส่วนในการแก้ปัญหานี้ให้ประประสบความสำเร็จได้อย่างไร"
ขณะที่ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. เปิดเผยว่าข้อมูลจากองค์การยูเนสโกระบุว่ามีเด็กไทยประมาณ 200,000 กว่าคน หรือ 5 เปอร์เซ็นต์ของเด็กในวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา เป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจ 1-3 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) หากต้องการหลุดออกจากกับดักรายได้ขั้นกลางซึ่งอยู่ที่ 12,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ภายใน 15 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะต้องแก้ไขปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาให้สำเร็จซึ่งจะช่วยทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้
"ถ้าเราเอาข้อมูลจากยูเนสโกได้ประเมินเอาไว้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาตั้งแต่วันนี้ และภายใน 5 หรือ 10 ปีข้างหน้าถ้ามีผลสำเร็จเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เราก็จะสามารถหลุดออกจากกับดักของประเทศที่มีรายได้ขั้นกลางภายใน 15 ปีข้างหน้า เพราะค่าเฉลี่ยที่ 3 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี หมายถึง 1 เท่าตัวของอัตราเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ถ้าเราสามารถเติบโตได้ 2 เท่าของที่เราเคยเติบโตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราก็มีโอกาสเป็นเสือเศรษฐกิจอย่างที่เราอยากเป็นเมื่อ 10 กว่าปีก่อนได้" ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. กล่าวย้ำ.