นางสาวซ่อนกลิ่น พลอยมี ผู้อำนวยการหน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมหรือหน่วย BUILD (BOI Unit for Industrial Linkage Development) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงการจัดงานซับคอนไทยแลนด์ 2016 ระหว่างวันที่ 11 - 14 พฤษภาคม 2559 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติไบเทค บางนา ว่า งานซับคอนไทยแลน์ปีนี้จะมีความยิ่งใหญ่แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะเป็นการจัดงานครั้งที่ 10 ซึ่งนอกจากกิจกรรมการจับคู่ทางธุรกิจ( Business Matching )และการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมระหว่างผู้ประกอบการรับช่วงการผลิตกับบริษัทผู้ซื้อแล้ว ยังมีการแสดงชิ้นส่วนจากอุตสาหกรรมอากาศยานและอวกาศและเครื่องมือแพทย์ซึ่งเป็นคลัสเตอร์เป้าหมายของรัฐบาล การแสดงนวัตกรรมของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของไทยและนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมที่พร้อมนำมาต่อยอดทางธุรกิจ และให้ความรู้แก่ผู้เข้าชมงาน คาดว่าการจัดงานครั้งนี้จะมีผู้เข้าชมงานมากกว่า 20,000 คน เกิดการจับคู่ทางธุรกิจภายในงาน 5,000 คู่ คิดเป็นมูลค่าที่จะซื้อขายชิ้นส่วนประมาณ 8,000 ล้านบาท
ทั้งนี้บีโอไอยังได้ประสานสำนักงานส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศทั้ง 14 แห่ง เชิญบริษัท ผู้ซื้อชิ้นส่วนจากต่างประเทศ พร้อมพาคณะนักลงทุนจากต่างประเทศเข้าร่วมงาน ซึ่งล่าสุดมีคณะผู้ซื้อชิ้นส่วนจากต่างประเทศตอบรับเข้าร่วมงานแล้ว 7 คณะ ได้แก่ คณะจากโอซากา โตเกียว เกาหลี ปักกิ่ง เยอรมัน ฝรั่งเศส และอินเดีย และยังประสานนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อพาคณะนักลงทุนจากต่างประเทศเดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานภายในนิคมอุตสาหกรรม
" การตอบรับของซับคอนไทยแลนด์ที่จัดมาตลอด 9 ปีที่ผ่านมา เป็นสิ่งยืนยันว่าผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจต่อเนื่อง นอกจากจะช่วยให้เกิดมูลค่าการซื้อขายชิ้นส่วนภายในงานแล้ว ซับคอนไทยแลนด์ยังเป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีทันสมัย ของผู้ผลิตและผู้ซื้อที่จะช่วยให้เกิดการต่อยอดผลิตภัณฑ์ โดยปีนี้หน่วย BUILD จะพยายามเลือกผู้ประกอบการมาจับคู่ธุรกิจเพื่อยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วน ไม่ใช่แค่การซื้อขายภายในงานเท่านั้น " นางสาวซ่อนกลิ่นกล่าว
สำหรับกิจกรรมสัมมนา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของซับคอนไทยแลนด์ปีนี้ จะเน้นการให้ความรู้เพื่อต่อยอดโอกาสทางธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การสัมมนาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอากาศยาน อุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ รวมทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยอุตสาหกรรมอากาศยานจะมีหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น กฎระเบียบในการตั้งโรงงาน การยกระดับมาตรฐานตามนโยบายรัฐบาล และการเข้าสู่ซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมอากาศยานจากผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก อาทิ แอร์บัส และโรลสรอยซ์ เป็นต้น ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ จะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนจากมุมมองของนักลงทุนญี่ปุ่นที่เป็นนักลงทุนหลักในภูมิภาคนี้ และมีการสัมมนาจากหน่วยงานอื่นอีก 50 หัวข้อ