รศ. ดร. พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "คณะบัญชีฯ จุฬาฯ มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นสถาบันการศึกษาที่สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อสร้างสรรค์สังคม โดยส่งเสริมให้คณาจารย์ศึกษาค้นคว้างานวิจัยใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม ในยุคปัจจุบัน สามารถนำไปใช้ได้จริงในการพัฒนาประเทศ เฉกเช่นเดียวกับการส่งเสริมนิสิตให้ออกไปแข่งขันตามเวทีประกวดต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองและเกิดผลงาน ที่สร้างสรรค์สังคมอย่างแท้จริง ดังนั้น รางวัลจึงเป็นเพียงผลพลอยได้ ที่พ่วงมากับความพยายาม ของเหล่าอาจารย์และนิสิต และทำให้ชื่อเสียงของสถาบันได้รับความเชื่อถือมากยิ่งขึ้น"
ทั้งนี้ ภายในงานมีอาจารย์และนิสิต ผู้ได้รับรางวัลจากหลายองค์ชั้นนำ มาร่วมงาน กว่า 100 คน อาทิ ผศ. ดร. ชัชพงศ์ ตั้งมณี ผู้ที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ Excellence Paper Award จากผลงานวิจัยเรื่อง 'ความสำคัญของความไว้วางใจในตลาดการค้าบนโลกออนไลน์', อ. ดร. ทิม นพรัมภา กับรางวัลระดับนานาชาติ Paper of the Month โดย INFORMS องค์กรชั้นนำทางวิชาการบริหารธุรกิจ ของโลก จากผลงานวิจัย 'การค้าไวน์ในตลาดล่วงหน้า' ที่ทำให้รัฐบาลนิวยอร์คเริ่มลงทุน เปิดตลาดไวน์ล่วงหน้าในอุตสาหกรรมไวน์, อ. ดร. เอกก์ ภทรธนกุล ผู้ที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ Best Paper Award จากผลงานวิจัย 'ความแตกต่างของการเสิร์ชหาสินค้าของคนแต่ละวัฒนธรรม', ทีมนิสิตผู้ชนะเลิศ การแข่งขันแผนการตลาด รางวัลพระราชทาน J-MAT Award, ทีมนิสิตผู้ชนะเลิศการประกวดแผนธุรกิจ ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, ทีมนิสิตผู้ชนะเลิศการแข่งขันตอบคำถามวิชาชีพทางบัญชี ของสภาวิชาชีพฯ และทีมชนะเลิศการวิเคราะห์หุ้นของสมาคม CFA ที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยในการเข้าแข่งขันระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็นต้น
กันตพัฒน์ พฤฒิธรรมกูล ตัวแทนทีม Royal Blue ผู้ชนะเลิศการแข่งขันแผนการตลาดรางวัลพระราชทาน J-MAT Award เผยว่า "การได้เข้าร่วมการแข่งขัน J-MAT ช่วยให้เราได้เรียนรู้ถึงการทำงานเป็นทีม และฝึกเรื่องความรับผิดชอบ รวมถึงได้เห็นวิธีคิดด้านการตลาดของทีมอื่นๆ ซึ่งช่วยให้ตนและเพื่อนนำไปพัฒนาความคิดของตัวเอง"
ทิพธัญญา ครุฑวัฒนา ตัวแทนทีม The Wanderlust ผู้ชนะเลิศการประกวดแผนธุรกิจ ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "การเข้าร่วมแข่งขันเป็นเหมือนการนำความรู้ที่เรียนมาทั้งหมด มาบูรณาการรวมกัน ทำให้ลำดับความคิดในเรื่องเรียนดีขึ้น รางวัลนี้เป็นเหมือนแรงบันดาลใจที่ทำให้ มีกำลังใจเรียนมากขึ้น เพราะเห็นผลแล้วว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้ไปนั้นสามารถนำไปใช้ได้จริง และสังคม ให้การยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารองค์กรใหญ่"
ไตรย ต่อศรีเจริญ ตัวแทนทีมชนะเลิศการแข่งขันตอบคำถามทางบัญชีระดับประเทศ ของสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยว่า "จุฬาฯ ชนะมาแล้ว 2 ปีซ้อน หากชนะอีกปี จะได้ ถ้วยถาวรมาครอง และเราก็ทำได้สำเร็จ จึงถือเป็นความภาคภูมิใจของทั้งเราและอาจารย์ และช่วงระหว่างที่ติว ก็ทำให้ได้เรียนรู้เนื้อหาที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงยังมีเนื้อหาที่มาจากประสบการณ์ การทำงานจริงด้วย เนื่องจากผู้ออกข้อสอบเป็นผู้บริหารของสำนักงานตรวจสอบบัญชี"
พิชชากร โผกรุด ตัวแทนทีมผู้เข้าแข่งขันวิเคราะห์หุ้นของสมาคม CFA ที่จะเป็นตัวแทน ประเทศไทยไปแข่งขันในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า "การแข่งขันครั้งนี้ เหมือนเป็นการเตรียมพร้อมก่อนไปทำงานและเป็นโอกาสดีที่จะได้ใกล้ชิดกับคนเก่งๆ ระดับโลก ที่สำคัญ ระหว่าง การแข่งขันจะมีผู้บริหารจากองค์กรต่างๆ มาเสนองานให้ทำด้วย"
"เชื่อมั่น งานนี้สร้างนิมิตหมายใหม่ ให้วงการการศึกษา ทำดีแล้วเชิดชู เพื่อเป็นขวัญกำลังใจคนทำดีให้ทำดีต่อไป ขณะเดียวกัน ปลุกกระแสให้ทุกคนตื่นตัวอยากทำดี เพื่อพัฒนาตัวเอง สร้างชื่อให้สถาบัน และสร้างสรรค์สังคมไทย" รศ. ดร. พสุ กล่าวทิ้งท้าย